จีนค้นพบ "ไมโครฟอสซิลสัตว์" ที่มีกล้ามเนื้อหายาก อายุ 535 ล้านปี
13 ต.ค. 2566, 09:30
วันที่ 12 ต.ค. 66 ทีมวิจัยนานาชาติค้นพบฟอสซิลกล้ามเนื้อที่มีอายุย้อนไปราว 535 ล้านปี จนถึงยุคแคมเบรียน (Cambrian) ตอนต้นในจีน โดยอยู่ในรูปแบบไมโครฟอสซิล ซึ่งเป็นซากดึกดำบรรพ์ขนาดเล็กมาก
ทีมนักบรรพชีวินวิทยารายงานการค้นพบไมโครฟอสซิลของไซโคลนิวรัลเลียน (cycloneuralian) ซึ่งคงสภาพถูกห่อหุ้มด้วยกล้ามเนื้อ โดยไซโคลนิวรัลเลียน เป็นกลุ่มของสัตว์จำพวกพยาธิตัวกลม พยาธิขนม้า และมัด ดรากอน (mud dragons) หรือไฟลัมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลที่มีขนาดเล็ก
การศึกษาดังกล่าวนำโดยจางหัวเฉียว นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์วารสารราชสมาคมกรุงลอนดอน ฉบับบี ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Proceedings of the Royal Society B: Biological Sciences) เมื่อวันพุธ (11 ต.ค.) ที่ผ่านมา
จางระบุว่าหนึ่งในสามตัวอย่างที่มีฟอสเฟตและมีขนาดระดับมิลลิเมตรที่พบทางตอนใต้ของมณฑลส่านซี อยู่ในสภาพดีกว่าตัวอย่างอื่นๆ โดยประกอบไปด้วยวงแหวนที่มีขนาดของแต่ละชั้นไล่เรียงใหญ่ขึ้น 5 วง ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงสร้างแบบรัศมีที่แผ่ออกจากศูนย์กลาง 19 ส่วน และโครงสร้างตามยาว 36 ส่วน
จางเสริมว่าวงแหวนดังกล่าวถูกบีบอัดในองศาที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่าไซโคลนิวรัลเลียนมีความยืดหยุ่นตอนยังมีชีวิตอยู่ และใช้กล้ามเนื้อช่วยในการเคลื่อนไหวและการกิน
จางระบุว่าฟอสซิลกล้ามเนื้อสัตว์ในช่วงยุคแรก เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจวิวัฒนาการการเคลื่อนไหว โดยเราสามารถเรียนรู้ว่าสัตว์ต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างไรในสมัยโบราณ และเรียนรู้วิธีที่พวกมันทยอยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวจนถึงปัจจุบันผ่านฟอสซิลเหล่านี้