นายกฯ เปิดตัว "คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ" สำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG
27 ต.ค. 2566, 14:52
วันนี้ ( 27 ต.ค.66 ) เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม 1-2 โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเปิดตัว คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG “The SDG Guidebook for Thai Listed Companies” และ “The SDG Impact Standards” เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจไทยให้สามารถผนวกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไปในแผนกลยุทธ์ กระบวนการทำธุรกิจ และรายงาน One Report โดยมีเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และนักลงทุนชั้นนำของไทย เข้าร่วมงาน นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาเปิดตัวคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG โดยได้แสดงความยินดีกับสำนักงาน ก.ล.ต. และ UNDP สำหรับการเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย” และ “SDG Impact Standards สำหรับภาคธุรกิจ” โดยเชื่อว่าคู่มือดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาท ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติในทุกมิติ โดยถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้สื่อสารอย่างชัดเจนกับทุกภาคส่วน ทั้งในระดับประเทศและประชาคมโลกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมาย SDGs รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยได้นำเป้าหมายเหล่านี้มาบูรณาการอยู่ในนโยบายที่สำคัญของประเทศในทุกระดับ รวมถึงในยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนหรือยุทธศาสตร์ของทุกกระทรวง ทบวง กรม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าภายใต้กฎกติกาใหม่ของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและแนวโน้มของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนถือเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Mega Trend) ที่กำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจและการลงทุน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวถูกมองเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวตามบรรทัดฐานใหม่ได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็อาจจะเป็น “โอกาส” สำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคพลังงาน ภาคการเกษตร ภาคป่าไม้ และภาคการเงินและตลาดทุน เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ให้กับธุรกิจและประเทศไทยภายใต้บรรทัดฐานใหม่นี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างแข็งขันและสร้างสรรค์จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ ของระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการดำเนินการให้เกื้อหนุนกันอย่างรอบด้าน โดยมีทิศทางที่สอดคล้องกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมาย SDGs ดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของภาครัฐ กระทรวงการคลังว่ามีบทบาทหลักในการทำหน้าที่ออกแบบนโยบายด้านการเงินและการคลัง ได้กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด โดยในมิติเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน ผ่านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ให้บริการทางการเงินประเภทใหม่อย่างพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินของประชาชนระดับฐานราก เป็นต้น ขณะที่ในมิติสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 นั้น กระทรวงการคลังได้ใช้มาตรการภาษีรูปแบบต่าง ๆ เช่น นโยบายให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตในการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และยังได้ออกแผนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ รวมถึงการกำหนดให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี มาใช้ในราชการแทนรถยนต์เดิมที่จะหมดอายุการใช้งาน
นายกรัฐมนตรีย้ำว่านอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับมิติหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ซึ่งร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกโดยการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา โดยการบริจาคเงินเพิ่มทุนของสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือ International Development Association (IDA) ภายใต้ธนาคารโลก และกองทุนพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Fund (ADF) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยกองทุนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศที่ยากจน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเงินทุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมีการระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาด้วย กระทรวงการคลังจึงได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคการเงินและตลาดทุนในการเป็นกลไกที่สนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นธรรม เช่น การออกตราสารหนี้เพื่อระดมเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืนของกระทรวงการคลัง ซึ่งรวมถึงการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability Bond เพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และต่อมาได้ขยายโครงการให้ครอบคลุมการพัฒนาและจัดการแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตรด้วย โดยปัจจุบันมีมูลค่ารวมจำนวน 377,000 ล้านบาท (ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566) ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนดังกล่าวได้จดทะเบียนและขึ้นแสดงใน Luxembourg Green Exchange (LGX) ของตลาดหลักทรัพย์ลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Stock Exchange: LuxSE) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่แสดงข้อมูลตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนเพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก อีกทั้งกระทรวงการคลังยังมีแผนที่จะดำเนินการออก Sustainability-Linked Bond เพื่อขยายขอบเขตให้สามารถนำเงินระดมทุน ไปลงทุนในโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐได้มากขึ้นด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ากระทรวงการคลังและหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินยังได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชน รวมทั้งการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย เช่น การจัดทำ “แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance Initiative for Thailand” เพื่อกำหนดทิศทางให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกันยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือการจัดทำ “มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของไทย หรือ Thailand Green Taxonomy” เพื่อเป็นเครื่องกำหนดมาตรฐานที่จะช่วยให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สามารถกำหนดนโยบายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุน ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในทุกมิติ
สำหรับความร่วมมือกับ UNDP นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดทำ The Integrated National Financing Framework (INFF) ร่วมกับ UNDP เพื่อเป็นกรอบในการบูรณาการการดำเนินการของประเทศไทยเพื่อระดมทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของภาคเอกชนว่า ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่สำคัญในการสร้างกลไกสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะด้วยแนวนโยบาย มาตรการด้านการเงิน การคลัง กฎระเบียบ หรือกฎหมายต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ภาคเอกชน ถือเป็นภาคีหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตไปในทิศทางของความยั่งยืน และบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านบทบาทของการเป็นผู้ขับเคลื่อนเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม การผลิต และการจ้างงาน รวมถึงความสามารถและช่องทางที่หลากหลายในการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเห็นแนวโน้มการเติบโตเชิงบวกในด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนของประเทศไทยที่กำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตไปในทิศทางของความยั่งยืนได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่า “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย” และ “SDG Impact Standards สำหรับภาคธุรกิจ” จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการวัดและจัดการผลกระทบที่สำคัญของธุรกิจที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเป้าหมาย SDGs ไว้ในกระบวนการตัดสินใจ การรายงาน และการบริหารจัดการภายในทุกระดับ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบและขยายผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินของบริษัทไปพร้อมกัน
พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง SDG Index 2023 ที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลกว่า สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือต้องพัฒนาอันดับสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่ 1 ในอาเซียน ซึ่งตรงนี้มีนัยสำคัญมากว่าการที่บริษัทต่าง ๆ จะมาลงทุนในประเทศไทย SDG Index ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการเชื้อเชิญให้บริษัทระดับโลกมาลงทุนในประเทศไทยที่เป็นต่อกว่าประเทศคู่แข่ง ทุกคนในที่นี้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนสำคัญให้มีการผลักดันยกขีดระดับการแข่งขันของประเทศไทยให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยให้ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป