เร่งแก้ปัญหา "อิกัวน่า" แพร่กระจาย! ประชาชนเดือดร้อน หวั่นเชื้อซาลโมเนลลา เตือนปล่อยเพ่นพ่านโทษจำคุก
15 พ.ย. 2566, 15:25
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประชาชนเดือดร้อนจากการแพร่พันธุ์ของอิกัวน่า ในพื้นที่ชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ว่า ได้รับทราบกรณีดังกล่าว และได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน เพราะส่งผลต่อวิถีชีวิตและพืชผลทางการเกษตร ที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้จัดประชุมหารือในประเด็น “อิกัวน่าเขียว สัตว์ป่าต่างถิ่น กรณีศึกษา เขาพระยาเดินธง” เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.65 ประกอบด้วยสมาคม ชมรม ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม และทำความเข้าใจ ป้องกัน ควบคุม สัตว์ป่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นชนิดต่างๆ ไม่ให้หลุดรอดออกไป จนส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
“เมื่อมีการแจ้งพบเห็นอิกัวน่าเขียวที่พลัดหลงจะมีการแจ้งมาทางสายด่วน 1362 กรมอุทยานฯ เจ้าหน้าที่จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการและรับมาตรวจสุขภาพก่อนส่งไปดูแลตามสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึงกรณีประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องการแพร่เชื้อโรคจะมีการจัดการอย่างไรบ้างนั้น สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ข้อมูลว่าอิกัวน่าเขียวและสัตว์กลุ่มกิ้งก่า มักพบเชื้อซาลโมเนลลา ซึ่งคนอาจติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสและทางอ้อมจากการขับถ่ายของเสียไว้ตามทาง ถนน บ้านเรือน อาจปนเปื้อนอาหาร ซึ่งจะมีอาการ อาเจียน ท้องเสียได้ ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้เข้าพื้นที่ทำการหาเชื้อโดยการเก็บตัวอย่างเพื่อไปตรวจสอบว่าอิกัวน่าเขียวบริเวณดังกล่าวว่าจะพบเชื้อดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งจะทราบผลภายใน 3 วัน คือ วันที่ 16-17 พ.ย.นี้
นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับมาตรการดำเนินการจากนี้ ต้องมีการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าควบคุมที่ต้องแจ้งครอบครองเพิ่มเติม ต้องขออนุญาตเพาะพันธุ์และขออนุญาตค้า เพื่อสะดวกในการควบคุมจัดทำการขึ้นทะเบียนผู้มีไว้ในครอบครอง และไม่อนุญาตให้เพาะและค้ารายใหม่เพิ่มเติม รวมถึงมีมาตรการประกาศห้ามนำเข้าอิกัวน่าเขียวเข้ามาภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดประชุมร่วมกับเครือข่าย สมาคม ชมรมผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ต่างประเทศหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในการจับและนำออกจากพื้นที่ร่วมกับชุมชน และกำหนดทิศทางการดำเนินการกับอิกัวน่า
"ในรัฐฟลอริดา คณะกรรมการอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้การสนับสนุนให้กำจัดได้โดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอิกัวน่าที่ปรากฏตามที่สาธารณะโดยไม่ต้องขออนุญาต ในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการรุกรานของอิกัวน่า มีการแปรรูปเป็นอาหาร จัดทำเมนูเด็ด และมีราคาแพง เช่น ที่ประเทศกายอานา ซึ่งมีราคากิโลกรัมละ 2,400 บาท" นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพล กล่าวว่า ทั้งนี้อยากประชาสัมพันธ์ให้ผู้เลี้ยงครอบครองสัตว์ป่าต่างประเทศให้มีความรับผิดชอบปฏิบัติข้อกฎหมายไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ ซึ่งการปล่อยสัตว์ป่าควบคุมมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต้องเลี้ยงไปตลอดชีวิตและหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงให้แจ้งและส่งมอบให้กรมอุทยานฯ ซึ่งมีระเบียบดำเนินการในส่วนนี้แล้ว
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของการแพร่พันธุ์อิกัวน่าเขียว กรมอุทยานฯ ได้มีหนังสือ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้รายงานการพบเห็นสัตว์ป่าต่างประเทศ ซึ่งได้รับรายงานการพบเห็นอิกัวน่าเขียว ใน 2 พื้นที่ คือ
1.บริเวณพื้นที่ชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี พื้นที่ตามที่เป็นข่าว ไม่สามารถประเมินประชากรได้ จากข้อมูลเบื้องต้น มีนักศึกษาปริญญาโท ได้ทำการสำรวจประเมินจำนวนประชากรช่วงระยะเวลาหนึ่งปีผ่านมา พบอิกัวน่าเขียวมากกว่า 300 ครั้ง ซึ่งจะต้องประเมินประชากรอิกัวน่าตามหลักวิชาการต่อไป และจากโครงสร้างประชากรพบว่ามีเพศผู้และเพศเมียตัวเต็มวัย ตัววัยรุ่น และตัววัยเด็ก ซึ่งคาดว่าสามารถตั้งประชากรได้ในพื้นที่ดังกล่าวได้
2.บริเวณพื้นที่วัดป่าคำชะโนด อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ประเมินประชากรมากกว่า 10 ตัว ยังไม่มีการสำรวจในการประเมินประชากร แต่พบว่ามีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีประเด็นของความเชื่อ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่วัด ประชาชนไปกราบไหว้บูชา อย่างไรก็ตามในส่วนของข้อมูลการนำเข้าประเทศไทยมีประวัติการนำเข้าตั้งแต่ปี 2533–2565 จำนวนทั้งสิ้น 11,622 ตัว
ส่วนผลกระทบในเรื่องการแพร่พันธุ์ของอิกัวน่านั้น จะส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศท้องถิ่น ถ้าหากอิกัวน่าเขียวสามารถปรับตัวและตั้งประชากรได้จะส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น เช่น สัตว์เลื้อยคลานตระกูลกิ้งก่า นอกจากอิกัวน่าเขียวจะกินพืชแล้ว ยังกินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ผีเสื้อ และหอยทาก ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจท้องถิ่น อิกัวน่าเขียวกินพืชใบอ่อน ผักและผลไม้เป็นอาหาร หากประชากรมีจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อพืชผลของเกษตรกร