ประธานสภาเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ ห่วงใยผู้ปลูกทุเรียนและสวนยาง เตรียมขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอในหน้าแล้งและเพื่อการอุปโภคบริโภค
23 พ.ย. 2566, 18:06
เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมอ่างเก็บน้ำห้วยทา ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วย น.ส.พิชามญชุ์ แซ่จึง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ (ความร่วมมือ กองทัพบก-มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์) พื้นที่ ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ดำเนินการสำรวจโดย จ.ส.อ.มานะศักดิ์ วิยาสิงห์ ช.พัน.6 พล.ร.6 และ จ.ส.อ.เอกชัย พันยา ช.พัน.201 โดยมี นายบวรพัฒน์ รุ่งคำ นายก อบต.บักดอง ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้ใช้น้ำชุมชน เป็นประธานในที่ประชุม และมี นายธานี สุดาชาติ รองนายก อบต.บักดอง เป็นรองประธาน ซึ่งว่าที่ ร.ต.เหมราช สุดาชาติ เลขานุการ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการต่อที่ประชุม โดยมีผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านประกอบด้วย นายประจิน ละออพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านภูดินพัฒนา นายทรงศักดิ์ รุ่งคำผู้ใหญ่บ้านตาเส็ต นายสวัสดิ์ อินวัณณา ผู้ใหญ่บ้านสวนป่า และนายชาตรี สมนึก ผู้ใหญ่บ้านน้ำมุด เป็นผู้นำหมู่บ้านที่ได้เสนองบประมาณในการปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งน้ำ ร่วมกันนำเสนอเกี่ยวกับความจำเป็นในการดำเนินงานตามโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ และมีคณะกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและสวนยางที่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขุดลอกเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งหลังจากการประชุมแล้ว คณะกรรมการได้ลงพื้นที่ไปทำการสำรวจหนองน้ำบ้านมุด หนองน้ำบ้านตาเส็ด และหนองน้ำบ้านบักดอง ต.บักดอง อ.ขุนหาญ เพื่อสำรวจพื้นที่จริงในการเร่งดำเนินการต่อไป
นายเกษมศานต์ ศรีโพนทอง ประธานสภาเกษตรกร จ.ศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า ซึ่งผู้เสนอของบประมาณในครั้งนี้ คือองค์กรผู้ใช้น้ำ เทิดด้วยทำน้ำ ชุมชน ต.บักดอง ที่ประชุมได้ร่วมกันวางแผนและหาทางออกร่วมกันในการขุดลอกเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตของเกษตรกรซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ได้อาศัยน้ำจากแหล่งน้ำที่ขุดลอก ซึ่งจากผลการลงพื้นที่ร่วมกันทั้ง 4 พื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการเก็บน้ำไว้ใช้ในบ่อพักที่เพียงพอห้วงการขุดลอก และอีกประการหนึ่งก็ได้ให้ทางผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ได้ไปประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและเตรียมพื้นที่ให้พร้อมในการขุดลอกทั้งด้านเอกสารและเขตแนวในการขุดลอก ซึ่งผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านมีความพอใจและต้องการขุดลอกเพื่อให้พี่น้องชุมชนได้มีน้ำใช้เพียงพอในหน้าแล้งและเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรโดยเฉพาะสวนทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการขุดลอกครั้งนี้