ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้า คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
28 พ.ย. 2566, 16:49
วันนี้ ( 28 พ.ย.66 ) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติตามที่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอ ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ1 ครั้งที่ 1/2566 (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 มีรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 รับทราบหลักการและเป้าหมายการทำงานของคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงและอุตสาหกรรมการประมง (คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาฯ) [รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นประธาน] ดังนี้
1.1.1 เรื่องปัญหาที่สืบเนื่องจากการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing)ให้คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาฯ เป็นเจ้าของเรื่อง
1.1.2 เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรประมงภายในประเทศให้คณะกรรมการนโยบายฯ เป็นเจ้าของเรื่อง
1.1.3 การดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่ให้กรมประมงดำเนินการตามปกติ
1.1.4 คณะกรรมการนโยบายฯ ไม่ใช่องค์กรบริหารจัดการการประมงโดยตรงแต่เป็นองค์กรในทางนโยบาย ให้คำแนะนำ และช่วยแก้ปัญหาเมื่อมีข้อขัดข้องกับชาวประมงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
1.1.5 คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ จะทำงานคู่ขนานและสนับสนุนซึ่งกันและกัน
1.1.6 ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ มีหน้าที่ในการสนับสนุนและจะต้องไม่ออกกฎระเบียบที่จะขัดกับการแก้ไขดังกล่าว
1.2 ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ จำนวน 8 คณะ ดังนี้
1.2.1 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (คำสั่งที่ 12/2564)
1.2.2 คณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง (คำสั่งที่ 13/2564)
1.2.3 คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง (คำสั่งที่ 4/2564)
1.2.4 คณะอนุกรรมการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (คำสั่งที่ 6/2564)
1.2.5 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา (คำสั่งที่ 7/2564)
1.2.6 คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานการปฏิบัติกี่ยวกับผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 9/2564)
1.2.7 คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำการประมงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 10/2564)
1.2.8 คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (คำสั่งที่ 11/2564)
1.3 แต่งตั้งคณะทำงาน 1 คณะ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการใดในการขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนและนโยบายระยะยาว
1.4 มอบหมายให้กรมประมงไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1กันยายน 2566 จำนวน 5 ประเด็น ดังนี้
1.4.1 ขอให้ยกเลิกการกำหนดให้เรือประมงติดวิทยุมดขาว2 แทนมดดำ ของกรมเจ้าท่า
1.4.2 ขอให้ปรับแก้ประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มระยะเวลาอยู่อาศัยเกินกำหนดที่ได้รับอนุญาต (over stay) สามารถตรวจอัตลักษณ์และขอหนังสือคนประจำเรือแรงงานต่างด้าว (seabook) ได้
1.4.3 เร่งนำเรือออกนอกระบบ จำนวน 1,007 ลำ งบประมาณ 1,806 ล้านบาท (อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา)
1.4.4 ส่งเสริมกองเรือประมงนอกน่านน้ำใหม่
1.4.5 ลดโทษปรับให้เหมาะสมกับความเสียหายของความผิดรวมทั้งให้มีคณะทำงานศึกษาและดำเนินการในเรื่องการจัดตั้งระบบ One Stop Service เพื่อความรวดเร็วในการอนุญาตทำการประมง โดยมอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รับผิดชอบและไปดำเนินการต่อไป
1.5 รับทราบการทบทวนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯให้เหมาะสม โดยจะหารือกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 (นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานกรรมาธิการ) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายฯ