ฝ่ายปกครองประจวบฯ จับมือ หลายหน่วยงาน แก้ไขความเดือดร้อนประชาชนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทวงหนี้โหด ดอกเบี้ยแพง
1 ธ.ค. 2566, 15:10
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 1 ธันวาคม 66 ที่บริเวณ ชั้น 1 หน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(หลังใหม่) อำเภอเมืองประจวบฯ ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน พร้อมด้วย พล.ต.ต.จำลอง งามเนตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายปฏิวัติ ธนากรรัฐ อัยการจังหวัดประจวบฯ พ.อ.วีระชัย ศิระสากร รอง ผอ.รมน.จังหวัดประจวบฯ ร่วมกันเปิดศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายองครักษ์ ทองนิรมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ นายสินาทร โอ่เอี่ยม ปลัดจังหวัดประจวบฯ พ.ต.อ.ไพทูล พรมเขียน ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ นางพิศมัย แก้วแจ่มใส คลังจังหวัดประจวบฯ นางแสงประทีป คุณาธิมาพันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบฯ นางสาวศิริวรรณ จูตะเสน ผู้อำนวยการเขตธนาคารออมสินประจวบคีรีขันธ์ นางวิภารัตน์ สัมอักษร ผู้อำนวยการสำนักงานธนาคาร ธกส. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางสาว นลิน มาคเชนทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดประจวบฯ เข้าร่วม
ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อยอดนโยบายการจัดระเบียบสังคม และปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาหนี้สินรายย่อยที่ต้องดำเนินการเชิงรุกด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชน รวมไปถึงการทวงหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ ทวงหนี้โหด**
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ดำเนินการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหา เตรียมลงทะเบียนในระบบ โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนแก้หนี้กับรัฐบาลได้ด้วยตนเอง ผ่านแอพพลิเคชั่น ThaiD และ ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th หรือ ผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกรณีหากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ ประชาชนสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำจังหวัดนั้นๆ และที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ ซึ่งสามารถเริ่มดำเนินการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567**
ซึ่งในส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์วันนี้ได้เปิดให้ประชาชนที่ไม่สามารถดำเนินการได้เองผ่านทางระบบออนไลน์ เดินทางมาลงทะเบียนด้วยตนเอง ที่หน้าห้องคลังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลากลางจังหวัดประจวบฯ ชั้น 1 ส่วนในวันต่อๆไปประชาชนสามารถเดินทางไปลงทะเบียนได้ ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ ที่ทำการปกครองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชั้น 3 และกรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียนที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง โดยในวันนี้มีลูกหนี้นอกระบบส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขายให้ความสนใจเดินทางมาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ และขอคำแนะนำปรึกษาที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำจังหวัดประจวบฯจำนวนมาก
ด้านแม่ค้าผลไม้รายหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้นอกระบบ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองขายผลไม้ช่วงแรกก็มีเงินหมุนทันกับรายจ่าย และต่อมาได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้ตนมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงต้องจำใจไปกู้ยืมเงินกับแก๊งเงินกู้นอกระบบในอัตราร้อยละ 30 ต่อวัน มาหมุนเวียน แต่ดอกมันสูงเกินไปทำให้จ่ายเงินกู้ที่ยืมมาไม่ยอมหมดสักที ทำงานค้าขายได้เงินมาก็ต้องจ่ายคืนให้กับเงินกู้ไปหมด ตนจึงสนใจโครงการนี้และเดินทางมาขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของตนที่พอกเป็นหางหมูอยู่จำนวนมาก