เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สคร.11 เตือนระวัง “โรคฉี่หนู” เผย ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย


20 ธ.ค. 2566, 16:06



สคร.11 เตือนระวัง “โรคฉี่หนู” เผย ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย




 

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผย ปีนี้พบผู้ป่วยเสียชีวิต ด้วยโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนูแล้ว 11 ราย ย้ำเลี่ยงเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน พื้นที่ชื้นแฉะด้วยเท้าเปล่า แนะสวมรองเท้าบูทป้องกัน หากมีไข้เฉียบพลัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขา อย่าซื้อยากินเอง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า สถานการณ์โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 ธันวาคม 2566 พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 865 ราย เสียชีวิต 11 ราย ผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช 8 ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 ราย และจังหวัดกระบี่ จำนวน 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 35 - 44 ปี รองลงมาคือกลุ่ม 65 ปีขึ้นไป อาชีพที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ เกษตรกร รองลงมา คือ รับจ้าง จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดระนอง รองลงมาคือนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา ชุมพร ภูเก็ต และกระบี่ โดยปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ที่พบ คือ อาชีพเสี่ยง มีบาดแผลและมีประวัติลุยน้ำ และไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน

โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “เลปโตสไปร่า” Leptospira ซึ่งพบอยู่ในปัสสาวะของหนูรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น สุนัข แมว วัว แพะ มักจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง พื้นดินที่เปียกชื้น โดยเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก ปาก หรือการไชเข้าทางผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หลังจากติดเชื้อประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ต่อมาอาจมีตาแดง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะออกน้อย ไอเป็นเลือด จนเสียชีวิตในที่สุด อาการระยะแรกจะคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หากผู้ป่วยซื้อยามารับประทานเองหรือเข้ารับการรักษาล่าช้า ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้

นายแพทย์ไกรสร ย้ำวิธีการป้องกันตนเองจากโรคฉี่หนู คือ 1) หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นให้สวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้า หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 2) กินอาหารสุกใหม่ เก็บอาหารให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืนโดยไม่มีภาชนะปิด 3) หมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้านให้สะอาดไม่มีหนูชุกชุม  4) หากมีอาการไข้สูงให้รีบไปพบแพทย์ทันที จะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.