องค์กรครูอีสานโวย เสนอแนวทางขับเคลื่อนใหญ่ ปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
17 ต.ค. 2562, 17:02
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ 17 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่าที่ห้องประชุมโรงเรียนเมืองอำนาจเจริญ โดยสมาพันธ์ครูจังหวัดอำนาจเจริญ มีนายธนัญชัย สายสุด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดอำนาจเจริญ ได้กล่าวพบปะผู้ประกอบวิชาชีพครูในจังหวัดอำนาจเจริญ และนายพลชัย โสภากันต์ ประธานสมาพันธ์ครูจังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีการประชุมสัมมนา ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ประกอบวิชาชีพครู ประมาณ จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถอยหลังเข้าคลอง
1. การเสนอร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ........ซึ่งอยู่ในขั้นการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน ตามที่องค์กรครูเสนอให้แก้ไขในบางมาตราที่กระทบต่อการบริหารงานแต่ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในที่ประชุมสัมมนาจึงแสดงจุดยืนให้มีการแก้ไขในบางมาตราที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น การปรับโครงสร้างการบริหารงาน และคณะกรรมการแต่ละระดับ ควรให้มีตำแหน่ง สัดส่วน ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับ และการเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง จากผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นตำแหน่งครูใหญ่ และผู้ช่วยครูใหญ่ การยกเลิกใบประกอบวิชาชีพครูให้เป็นหนังสือรับรองความเป็นครู และมาตราอื่น ๆ ที่กระทบต่อขวัญกำลังใจ และความไม่มั่นคงในวิชาชีพ ทั้งนี้ เสนอให้คงไว้ซึ่งครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีใบประกอบวิชาชีพ และตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาคงเดิม
2. การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ควรลดภาระงานอื่นเพื่อให้ครูได้มีเวลาในการพัฒนาผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพ โดยการสนับสนุนให้มีบุคลากรอื่นมาช่วยงานครู เช่น ธุรการโรงเรียน นักการภารโรง ควรจัดให้มีทุกโรงเรียน การประเมินคุณภาพการศึกษาไม่ควรยึดผลการประเมิน NT ONET PISA เป็นเกณฑ์การตัดสินคุณภาพการศึกษาทุกด้าน ควรมีมิติในการวัดประเมินผลที่หลากหลาย ที่วัดคุณภาพผู้เรียนอย่างแท้จริง
3. การพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาชีพ ให้นำ ว.13 และ ว.17 กลับมาใช้ เพื่อให้ครูได้พัฒนาผู้เรียนตามเกณฑ์และนำผลการปฏิบัติงานมาขอกำหนดเป็นวิทยฐานะชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ หรือเชี่ยวชาญ เพราะผลงานของครูย่อมสะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียน
4. การบริหารงานใน กศจ. การแต่งตั้งคณะกรรมการ องค์คณะบุคคลในทุกระดับ ควรให้มีผู้ประกอบวิชาชีพครู และตำแหน่ง ผอ.สพท.จังหวัดเป็นคณะกรรมการทั้งในระดับ กศจ. และ อ.ก.ศ.จ. เพื่อความมีประสิทธิภาพในการบริหารในระดับพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น
5. แก้ไขความซ้ำซ้อนของการจัดการศึกษาระหว่าง ศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอให้ยกเลิกคำสั่งที่ 19/2560
6. ให้คงไว้ซึ่งตำแหน่งธุรการโรงเรียน โดยจัดตั้งงบประมาณที่เป็นแบบจ้างรายปีงบประมาณ จัดให้มีสวัสดิการและประกันสังคมตามกฎหมายกำหนด
และ7. การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการควรมีมาตรการ หรือจัดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจ และมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
จาการประชุมสัมมนาในครั้งนี้หากการเรียกร้องในการนำเสนอผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการแล้วไม่ได้ผลพวกคนจะรวบรวมสมาชิดครูทั่วทั้งประเทศรวมตัวกันครั้งใหญ่และจะเดินทางเข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป