เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ปภ. เผย "ทุ่นสึนามิ" ในทะเลอันดามันไม่ส่งสัญญาณ ไม่กระทบการเฝ้าระวัง-แจ้งเตือนสึนามิ


8 ม.ค. 2567, 16:12



ปภ. เผย "ทุ่นสึนามิ" ในทะเลอันดามันไม่ส่งสัญญาณ ไม่กระทบการเฝ้าระวัง-แจ้งเตือนสึนามิ




วันนี้ ( 8 ม.ค.67 ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) เผยถึงกรณีทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ ในทะเลอันดามันไม่ส่งสัญญาณว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ซึ่งได้ติดตั้งในทะเลอันดามัน ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร พบว่า ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ได้หลุดออกจากตำแหน่งการติดตั้งและหยุดส่งสัญญาณ โดยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับกองทัพเรือภาคที่  3 ทำการเก็บกู้ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามันขึ้นฝั่งเพื่อเตรียมนำส่งซ่อมบำรุงตามแผนต่อไป 

สำหรับการวางทุ่นสึนามิชุดใหม่เพื่อทดแทนทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ที่หลุดออกจากตำแหน่งการติดตั้งและหยุดส่งสัญญาณนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการจัดหาทุ่นสึนามิชุดใหม่ดังกล่าวแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขนส่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาและมีกำหนดส่งถึงประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2567 พร้อมทั้งได้วางแผนการติดตั้งทุ่นสึนามิชุดใหม่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ เนื่องจากการนำทุ่นตรวจวัดสึนามิไปติดตั้งทดแทนทุ่นชุดเดิมนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านความปลอดภัย สภาพอากาศ สภาพพื้นน้ำทะเลที่เหมาะสม จากช่วงมรสุมในทะเลอันดามัน ซึ่งจะดำเนินการติดตั้งโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

กรณีทุ่นสึนามิของไทยหลุดออกจากตำแหน่งหรือไม่ส่งสัญญาณนั้น “ไม่ส่งผลกระทบต่อการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยแต่อย่างใด” จะมีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทยเท่านั้น แต่ระบบการ “เฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของไทยยังคงดำเนินการได้” เนื่องจากการติดตามเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัย  การเกิดสึนามิของไทยเป็นการใช้และประมวลข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล แถบมหาสมุทรอินเดีย ข้อมูลทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศอินเดีย ข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงา และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่ง “ข้อมูลจากทุ่นสึนามิของไทย เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ” โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ ปภ.จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า โดยสามารถชี้เป้าข้อมูลเชิงลึกได้ถึงพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ช่วงเวลาในการเข้าถึงฝั่งของคลื่นสึนามิ ใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน (สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต)

อย่างไรก็ตาม ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 มีสถานะการทำงานเป็นปกติ โดย ปภ.ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยสึนามิในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันมีสถานะการทำงานเป็นปกติ ซึ่ง ปภ. ได้ดำเนินการตรวจสอบและทดสอบสถานะการทำงานของระบบแจ้งเตือนภัยสึนามิเป็นประจำทุกวัน 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยยังคงปฏิบัติภารกิจการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามัน รวมถึงติดตามข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อประกอบการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการเกิดสึนามิ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ โดยสามารถติดตามข้อมูลและแจ้งเตือนภัยสึนามิแก่ประชาชนตามขั้นตอนที่กำหนดได้รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการอพยพกรณีภัยสึนามิได้ทันสถานการณ์ 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.