เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สคร.11 เตือนระวังป่วย “โรคลิชมาเนีย” แม้พบน้อยในไทย แต่หากป่วยอาจรุนแรงถึงชีวิต


11 ม.ค. 2567, 12:13



สคร.11 เตือนระวังป่วย “โรคลิชมาเนีย” แม้พบน้อยในไทย แต่หากป่วยอาจรุนแรงถึงชีวิต




 

            สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เตือนระวังป่วยโรคลิชมาเนีย แม้พบน้อยในไทย แต่หากป่วยอาจรุนแรงถึงชีวิต แนะหากเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ควรสวมใส่เสื้อผ้ารัดกุมมิดชิด นอนกางมุ้ง ดูแลความสะอาดบ้านเรือน หลังกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง 3 - 6 เดือน แล้วมีไข้ อ่อนเพลีย ขับถ่ายผิดปกติ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อย ให้รีบไปพบแพทย์
นายแพทย์หิรัญวุฒิ  แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า สถานการณ์โรคลิชมาเนียในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2539 - 2566 พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 36 ราย เสียชีวิต 6 ราย พบผู้ป่วยผู้เสียชีวิตอยู่ในจังหวัดสงขลา จำนวน 2 ราย จังหวัดลำพูน จำนวน 2 ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 ราย และจังหวัดเชียงราย จำนวน 1 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 35 – 44 ปี รองลงมา คือ กลุ่ม 45 – 54 ปี

โรคลิชมาเนีย เป็นโรคเกิดจากโปรโตซัวลิชมาเนีย (Leishmania spp.) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้โดยการถูกริ้นฝอยทราย (sand fly) ที่มีเชื้อกัด เชื้อนี้ทำให้เกิดโรคหลายรูปแบบที่พบมากที่สุดคือ ชนิดที่มีผลต่อผิวหนังหรือชนิดที่มีผลต่ออวัยวะภายใน ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดในบริเวณที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น โดยเฉพาะแถบเอเชีย แอฟริกา หรืออเมริกาใต้ เมื่อติดต่อสู่คนใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะแสดงอาการของโรคทางผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน อาการของโรคทางผิวหนังจะเริ่มจากมีตุ่มนูนแดง คัน ซึ่งอาจกลายเป็นแผล และเป็นสะเก็ด แผลมักจะหายได้เอง แต่อาจเป็นนานหลายปี และกลายเป็นแผลเป็นถาวร การติดเชื้อที่มีผลต่ออวัยวะภายใน ได้แก่ ม้าม ตับ หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเลือด หากไม่รักษาโดยด่วนอาจทำให้ตายได้

นายแพทย์หิรัญวุฒิ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดที่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดโรค จึงควรป้องกันไม่ให้ริ้นฝอยทรายกัด ดังนี้ 1) ประชาชนที่เข้าป่า ไปถ้ำ ทำสวน  ทำไร่ ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดรัดกุม เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมรองเท้า ยัดปลายขากางเกงในรองเท้ายัดปลายเสื้อในกางเกง ทายากันยุง เป็นต้น ซึ่งจะป้องกันได้ เนื่องจากริ้นฝอยทรายมีปากสั้น ไม่สามารถกัดผ่านเสื้อผ้าได้ หากต้องพักค้าง

ควรนอนในมุ้ง และไม่ควรอยู่นอกบ้านช่วงพลบค่ำ ซึ่งริ้นฝอยทรายออกหากินมาก  2) ทายากันแมลงบริเวณผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้า
3) นอนกางมุ้งที่ชุบด้วยสารเคมีป้องกันยุงและแมลง ดูแลบริเวณบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย 4) หลังกลับจากพื้นที่โรคระบาด ภายใน 3 - 6 เดือน หากมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย มีอาการท้องเดิน ท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ให้พบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อการรักษาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ประชาชนสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน
กรมควบคุมโรค หมายเลข 1422









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.