นายกฯ มอบนโยบายด้านสังคม 7 กลุ่ม มุ่งแก้ปัญหา-ยกระดับความเป็นอยู่ปชช.
12 ม.ค. 2567, 16:04
วันนี้ ( 12 ม.ค.67 ) เวลา 14.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายด้านสังคม ว่า ประกอบด้วย 7 กลุ่มนโยบาย ได้แก่ 1) การแก้หนี้ทั้งระบบ 2) การพัฒนาการศึกษา 3) สิทธิในที่ดินทำกิน 4) ยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล 5) สาธารณสุข 6) ความเสมอภาคเท่าเทียม และ 7) สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของประชาชน ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เริ่มเดินหน้าดำเนินการบนงบไปพลางก่อนบ้างแล้ว ขอเน้นย้ำว่าทั้ง 8 กลุ่มนี้ก็จะยังเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลจะเดินหน้าทำต่อในงบประมาณปี พ.ศ. 2568
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการแก้หนี้ทั้งระบบ รัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ด้วยการจัดหาสินเชื่อที่เป็นธรรมและเหมาะสม และให้ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ ดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม แก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จัดการการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง มีการบูรณาการทำงานของภาครัฐทั้งบริหาร ตำรวจ และปกครอง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาหนี้ให้ลืมตาหายใจได้ และกลับมาเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ในระยะกลางและยาว อยากให้เรื่องของหนี้สินต้องมีการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงหนี้สินที่เป็นธรรมได้มากขึ้น หนี้ที่ดี ที่ใช้ในการประกอบอาชีพจะช่วยสร้างความมั่งคั่ง ช่วยขยายโอกาสให้กับประชาชนได้ การดำเนินงานแก้ไขหนี้ทั้งระบบก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต
เรื่องการศึกษา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้รับนั้นมีจำนวนเยอะมาโดยตลอด แต่คุณภาพของเราสะท้อนจากผลคะแนน PISA และอันดับมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยนั้นไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก ขอให้ช่วยกันวางแผน และตัวชี้วัดให้ชัดว่าจะทำอย่างไรให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขั้นวิชาชีพ จนถึงระดับอุดมศึกษา ต้องจัดการเรียนรู้แนวใหม่ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานให้มีทักษะดิจิทัลและมีสมรรถนะที่จำเป็น ยกระดับอาชีวศึกษาให้มีการเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการ และสถาบันอุดมศึกษาสายปฏิบัติการ ปรับปรุงระบบวัดผลและประเมินผลให้มีความหลากหลาย รับรองมาตรฐานวิชาชีพ จัดการศึกษาที่หลากหลายตามความต้องการเฉพาะบุคคล สนับสนุนการวิจัยทั้งวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) งานวิจัยแนวหน้า (Frontier Research) และงานวิจัยอื่น ๆ อย่างมีเป้าหมาย พัฒนาครูที่มีความพร้อมด้านวิชาการและทักษะการจัดการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ต่าง ๆ พร้อมทั้งปรับบทบาทของครู ลดกระบวนการทำงานที่กินเวลาสอนหนังสือ และปรับปรุงวิธีการประเมินวิทยฐานะ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ นักเรียนต้องได้รับอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสมต่อวัย เข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ สร้างสังคมที่รักการอ่าน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดูแลทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจอย่างเหมาะสม รวมถึงมีโอกาสในงานฝึกงาน หารายได้ขณะที่เรียน
เรื่องสิทธิในการทำกินบนที่ดิน รัฐบาลจะยังคงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ยังไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร เร่งตรวจสอบและออกโฉนดที่ดิน เพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินทำกินเพื่อสร้างอาชีพ มีรายได้สูงขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต
เรื่องปัญหายาเสพติด รัฐบาลนี้จะปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทย โดยใช้มาตรการปราบปรามทางกฎหมาย ยึดทรัพย์ และดำเนินการเจรจาทางการทูตกับประเทศตามแนวชายแดน เพื่อควบคุมการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในประเทศควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในเด็ก เยาวชน ผู้ใช้แรงงาน และประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการบำบัดและรักษาผู้เสพอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อสามารถนำทุกคนกลับสู่ครอบครัว สังคม เป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
เรื่องสาธารณสุข คนไทยจะต้องเข้าถึงสาธารณสุขที่ดีขึ้นทั้งประเทศ รัฐบาลจะต้องสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยกระดับบริการทางการแพทย์บนฐานนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง การแพทย์แม่นยำ ส่งเสริมให้ประเทศไทยมี Universal Healthcare Coverage หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพระดับโลก ส่งเสริมกลไกการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรค กระตุ้นให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ การบริโภคที่ไม่เหมาะสม การไม่ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ดูแลค่าบริการทางการแพทย์ พัฒนาระบบบริหารการจ่ายค่าบริการของระบบประกันสุขภาพให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการป้องกันโรคล่วงหน้า เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านโดส การคัดกรองโรคไว้แต่เนิ่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย การคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับ ฯลฯ ซึ่งหากตรวจพบก่อนจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชน และลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ การจัดรถโมบายเคลื่อนที่ไว้บริการพี่น้องประชาชน เป็นการพาหมอไปหาประชาชนในพื้นที่ที่ประชาชนยังลำบากในการเดินทางมาโรงพยาบาล โดยจะจัดรถเคลื่อนที่ลักษณะนี้ไปทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างครอบคลุม การนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อบริการประชาชน ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านความเสมอภาค เท่าเทียม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยการสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วยสวัสดิการโดยรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการคัดกรอง ปรับปรุงคุณภาพของนโยบายสวัสดิการที่กลุ่มคนรายได้น้อยได้รับ พร้อมกับการลดการตกหล่นจากการเข้าถึงสวัสดิการ ทั้งนี้ ต้องบริหารจัดการไม่ให้เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศ มากเกินไป จนไม่มีงบประมาณไปพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ใช้ประโยชน์จากกองทุนต่าง ๆ เช่น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นต้น ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการโหวตวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนท่วมท้น นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
ด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในตลอดสมัยของรัฐบาลนี้ ทั้งรถไฟฟ้า น้ำประปา และสิ่งแวดล้อม อากาศสะอาด ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประชาชน รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำ “20 บาทตลอดสาย” ให้สำเร็จ ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีแดง ก็เหลือ 20 บาทแล้ว ทางกระทรวงคมนาคมก็จะเดินหน้าพัฒนาระบบ Feeder ที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้งสองสายให้มากขึ้น และจะต้องเดินหน้าทำส่วนอื่นให้สำเร็จ เพื่อทำให้ 20 บาทตลอดสายเกิดขึ้นได้จริงสำหรับประชาชน
รวมถึงพัฒนาระบบน้ำประปาให้ประชาชนมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง บริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร พัฒนาจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบ ฟื้นฟูระบบชลประทานและการกระจายน้ำในพื้นที่เขตชลประทาน ขยายพื้นที่ชลประทานให้ครบ 40 ล้านไร่ พร้อมทั้งจัดการแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานและแหล่งน้ำชุมชนอย่างเหมาะสม แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ มีการกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้า โดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างกลไกการทำงานให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ต้องทำให้กลไกที่วางไว้ขับเคลื่อนได้จริง สนับสนุนให้ไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ (Carbon Neutrality) ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการให้บริการด้วยต้นทุนต่ำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงผู้ให้บริการในการใช้พลังงานสะอาด การกำจัดขยะและของเสีย การลดการปล่อยคาร์บอนที่สอดคล้องกับขนาดและประเภทธุรกิจ
ด้านความมั่นคง รัฐบาลจะสนับสนุนการปรับโครงสร้างของหน่วยงานด้านความมั่นคงให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ ได้ทุกมิติ พัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศและประชาชน พัฒนากระบวนการทำงาน การลงทุนในอุปกรณ์ การฝึกอบรม ที่จะทำให้ทหารเป็น “ทหารอาชีพ” ลดกำลังพล และงบประมาณลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เป็นสมัครใจให้มีนัยยะ ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ทหารใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากขึ้น เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การบรรเทาสาธารณภัย แก้ไขปัญหาความยากจน แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยเฉพาะการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร การเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างรายได้สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างความเข้มแข็งทางสังคมของประเทศ
ด้านการเมืองการปกครอง โดยนโยบายที่สำคัญในกลุ่มนี้จะประกอบด้วย 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1) การปลดล็อคกฎระเบียบ เปลี่ยนรัฐอุปสรรคให้เป็นรัฐสนับสนุน 2) การทำ E-Government เพื่อปรับปรุงกระบวนการบริการประชาชน และ 3) การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้านการปลดล็อคกฎระเบียบ รัฐบาลนี้จะต้องเดินหน้าแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างเนื้อสร้างตัวของประชาชน การทำธุรกิจ การคิดค้นธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการทำสุราพื้นบ้าน ซึ่งจะกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ชุมชนจะสามารถชูจุดเด่นของตนเองได้ สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้คนตัวเล็กสามารถเติบโตได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลและราชการยังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก เพื่อทำให้ประชาชนของพวกเราทุกคนได้รับการบริการที่ดีขึ้น เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล (E-government) ยกเลิกการใช้เอกสาร (Paperless) และลดขั้นตอนการทำงานที่หมดความจำเป็น นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ มีช่องทางและรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายเพื่อรองรับ Digital Economy ด้วย บูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐโดยสมบูรณ์ สร้างความโปร่งใสโดยเปิดเผยข้อมูล ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ลดการซ้ำซ้อนของการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่จำเป็น ทำแผนกลยุทธ์ด้านรัฐบาลดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม อำนวยความสะดวกบริการประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยไม่ลืม การจัดการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ต้องมีการยกระดับทั้งระบบ นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ทั้งคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) ด้านต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่ม Productivity ทั้งประเทศ และเรื่องการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย รัฐบาลนี้จะทำประชามติ เพื่อทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ โดยไม่จุดชนวนความขัดแย้งในสังคม มุ่งหน้าทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งในที่สุด