นายกฯ หนุนปรับปรุง ยกระดับพัฒนาท่าเรือระนอง-เกาะสอง ให้ทันสมัยรองรับการค้าขาย
22 ม.ค. 2567, 15:28
วันนี้ ( 22 ม.ค.67 ) เวลา 11.15 น. ณ ท่าเรือ-เกาะสอง ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามประเด็นการค้าผ่านแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร ประมงและพบปะผู้แทนชาวประมงในการแก้ไขปัญหา IUU รวมถึงพบปะประชาชนกลุ่มประมง และมอบบัตรคนไทยผลัดถิ่น 14 คน ให้แก่ตัวแทนผู้รับมอบ พร้อมด้วย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปากน้ำหัวหน้าส่วนราชการ นายกสมาคมประมงระนอง ผู้ประกอบการประมง และประชาชนมารอให้การต้อนรับ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางถึงบริเวณท่าเรือระนองได้ทักทายและขอบคุณประชาชนที่มารอต้อนรับอย่างอบอุ่นและพูดคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง รวมทั้งพบปะกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นด้วย จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังสรุปรายงานจาก 4 หน่วยงาน (ด่านศุลกากร ด่านตรวจประมงระนองตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง จัดหางานจ.ระนอง) เพื่อติดตามประเด็นการค้าชายแดน แรงงานข้ามชาติ พิธีการศุลกากร การประมงการแก้ไขปัญหา IUU โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับว่า รู้สึกดีใจที่มาจังหวัดระนองครั้งแรกในรอบ 40 ปี โดยมาพร้อมกับคณะรัฐมนตรี รู้สึกซาบซึ้งกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและจริงใจของประชาชนชาวจังหวัดระนองในครั้งนี้ รวมถึงความจริงใจที่ชาวใต้มีให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แม้จังหวัดระนองเป็นจังหวัดเล็ก แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ
สำหรับประเด็นเรื่องท่าเรือ ที่ได้รับฟังซึ่งมีหลากหลายมิตินั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการปรับท่าเรือระนองให้มีการยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น เพราะรัฐบาลคำนึงถึงการค้าชายแดนและการเดินทางระหว่างของนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามการปรับปรุงท่าเรืออย่างเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด แต่เรื่องของการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้า-ขาออก ก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะผู้ประกอบการต้องการความสะดวกสบาย one stop service เวลามาแล้วไม่ต้องเสียเวลาในการคอยหรือต้องผ่านหลาย ๆ โต๊ะ ตรงนี้ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ที่ต้องการจะทำให้ท่าเรือระนองแห่งนี้มีความทันสมัย และมีความสะดวกสบายในการใช้
นายกรัฐมนตรียืนยันเรื่องนี้จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่จะทำให้ท่าเรือนี้ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะดูไปถึงเรื่องของการประมงด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขปัญหา IUU เกิดผลสำเร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้สามารถปลดล็อกเรือประมงไทยให้ออกไปค้าขายดีขึ้น
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ ในภาพใหญ่รัฐบาลต้องการพลิกฟื้นอาชีพประมงไทย เพราะ 9 ปีที่ผ่านมากฎหมายประมงไม่ตรงกับแนวทางปฏิบัติจริง ผู้ประกอบการประมงรายเล็ก กว่า 20,000 ราย ต้องเลิกกิจการไป รัฐบาลจึงได้ปรับ พรบ. ประมงเพิ่มเติมฯ เพื่อทำให้ประมงไทยกลับมามีรายได้และส่งออกได้มากขึ้น คนไทยได้ทานอาหารทะเลที่มีคุณภาพและราคาถูก อนุรักษ์ทะเลได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เคารพในกติกาสากลที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ดูแลคุ้มครองแรงงานไม่ให้ผิดหลักสิทธิมนุษยชน และทำให้สินค้าประมงจากไทยโปร่งใสตรวจสอบได้