"รัฐบาล" สนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ อย่างถูกกฎหมาย และเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย
2 ก.พ. 2567, 09:54
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งเสริมการเข้าถึงอาชีพ ให้มีงาน มีเงิน กับแรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้แรงงานไทยทำงานในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย เข้าถึงการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม พร้อมกันนี้มุ่งเตรียมความพร้อมและพัฒนาแรงงานไทยให้เป็นแรงงานศักยภาพสูงสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าจะขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ จำนวน 100,000 อัตรา ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ต่างประเทศทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 118,080 คน พบว่าประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานมากที่สุด คือ ไต้หวัน รองลงมาคือสาธารณรัฐเกาหลี และสาขาอาชีพที่แรงงานไทยนิยมทำงานในต่างประเทศ ได้แก่ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมตามลำดับ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566) ไทยส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศจำนวน 21,281 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งเงินกลับประเทศของแรงงาน เป็นมูลค่า 58,687 ล้านบาท
โดยกระทรวงแรงงานระบุเพิ่มเติมว่า สาขาช่างถือเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่างเชื่อม กระทรวงแรงงานจึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการยกระดับทักษะ (Upskill) แรงงานที่มีความสามารถด้านการช่างให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างในต่างประเทศผ่านการอบรมและทดสอบทักษะฝีมือ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นายจ้างว่าผู้ที่ผ่านฝึกอบรมมีความรู้ ทักษะ และสามารถไปทำงานในต่างประเทศในฐานะแรงงานฝีมือ ซึ่งจะทำให้แรงงานไทยได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือ สามารถติดต่อที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีสำนักงานแรงงานในต่างประเทศที่รับผิดชอบเรื่องการดูแลและช่วยเหลือแรงงานไทยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของประเทศที่แรงงานทำงานอยู่อย่างเป็นธรรม จำนวน 12 แห่งในต่างประเทศ ได้แก่
1. สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด)
2. ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
3. สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น
4. สำนักงานแรงงาน ณ เมืองฮ่องกง
5. สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) กรุงไทเป
6. สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง
7. สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย
8. สำนักงานแรงงานในประเทศสิงคโปร์
9. สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน
10. ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล
11. ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี
12. ฝ่ายแรงงาน คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับแรงงานทุกกลุ่ม เพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ พร้อมมุ่งขยายตลาดแรงงานต่างประเทศและส่งออกแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ มีทักษะ ไปทำงานในต่างประเทศ สร้างรายได้กลับเข้าประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำด้วยความห่วงใยว่า ขอให้ติดต่อทำงานต่างประเทศผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐบาล เดินทางไปอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง สวัสดิการ อย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ ” นายชัย กล่าว