เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สคร.11 ห่วงไข้เลือดออกระบาด หลังพบผู้ป่วยเดือนเดียว กว่า 1,000 ราย “ย้ำทายากันยุงป้องกันยุงกัด”


16 ก.พ. 2567, 12:49



สคร.11 ห่วงไข้เลือดออกระบาด หลังพบผู้ป่วยเดือนเดียว กว่า 1,000 ราย “ย้ำทายากันยุงป้องกันยุงกัด”





 
      สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช ห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2567 จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัดโดยการทายากันยุง ควบคู่กับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จะสามารถลดการแพร่เชื้อไข้เลือดออกในชุมชนได้
ดร.นพ.หิรัญวุฒิ  แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในปี 2567 จะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากขึ้น โดยในปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในเขตสุขภาพที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มกราคม 2567 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 1,727 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10 - 14 ปี รองลงมาคือ 5 - 9 ปี และกลุ่มอายุ 15 - 19 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภูเก็ต รองลงมาคือ สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ และระนอง ตามลำดับ
ดร.นพ.หิรัญวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก (หลังผ่านระยะฟักตัวในยุง) ให้ผู้อื่นได้ การทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ โดยทาห่างกันครั้งละ 6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 5 วัน นับจากวันที่ได้รับการวินิจฉัยโรค นอกจากนี้ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันสำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค อย่างต่อเนื่องเพื่อลดจำนวนยุงลายรุ่นต่อไป
ทั้งนี้หากประชาชนมีอาการสงสัยโรคไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีผื่นหรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว แขน ขา เป็นต้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล ตามขนาดยาที่กำหนด ควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน
ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารและยากต่อการรักษา ทั้งนี้หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 1 - 2 วัน (นับจากวันที่เริ่มมีไข้) ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โรคไข้เลือดออกหากได้รับการรักษาเร็วจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ดร.นพ.หิรัญวุฒิ กล่าว.









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.