คำนูณ จี้ รบ.แจงวิธีการ-ที่มาเงินดิจิทัลให้ชัดเจน หวั่นเกิดความเสียหาย
9 เม.ย. 2567, 15:55
วันนี้ ( 9 เม.ย.67 ) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ใช้เวลาหารือในการประชุมวุฒิสภานัดสุดท้ายก่อนปิดสมัยประชุมวุฒิสภาฝากไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นการใช้เงินในโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งสาระสำคัญการจัดทำงบประมาณ ปี 2568 เป็นงบขาดดุลสูงสุด 8.65 แสนล้านบาท ยอดรวมทั้งสิ้น 3.75 ล้านล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากร่างเดิม 1.52 แสนล้านบาท ย้ำว่าจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลจะมีการแถลงโครงการดิจิทัลในวันพรุ่งนี้ เชื่อว่า วันนี้ ครม. จะอนุมัติเห็นชอบตามที่ 4 หน่วยงานของรัฐเสนอกรอบงบประมาณ ปี 2568 ทำให้คาดการณ์ทิศทางของโครงการได้ไม่ยากว่ารัฐบาลจะไม่ออกกฎหมายพิเศษกู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากงบประมาณ ผสมผสานจากงบ ปี 2568 แล้วตัดออกมาจากส่วนงานอื่นก็น่าจะได้ประมาณ 3.5 - 3.7 แสนล้านบาทบาท ส่วนเงินที่ขาดอยู่อีก 1.3 แสนล้านบาท การคาดการณ์กันว่า ปลอดภัยที่สุด ก็คือ นำมาจากงบประมาณ ปี 2567 โดยมีการแปลงงบประมาณออกมาอีกไม่เกิน 1.3 แสนล้านบาท ถ้าขาดเหลืออยู่บ้าง ก็จะให้ธนาคารของรัฐปฏิบัติตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
ส่วนตัวเห็นด้วยกับวิธีการใช้เงิน คือ ใช้จากเงินงบประมาณเพราะ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายผ่านรัฐสภาแล้ว ไม่ใช่เงินนอกงบประมาณที่ออกกฎหมายพิเศษกู้เงินแต่ปัญหาที่รู้สึกหน้าชาเหมือนถูกตบหน้า เพราะในส่วนที่จะนำเงินมาจากงบประมาณ ปี 2567 ที่ผ่านมาไม่มีใครอภิปรายเรื่องเงินดิจิทัล ทั้งในชั้นของ สส. และ สว. ซึ่งไม่ปรากฏชื่อโครงการนี้ อยู่ในร่างงบประมาณ ดังนั้น การจะแปลงงบประมาณออกไป เหมือนกับว่าโครงการไม่ได้ถูกตั้งมาตั้งแต่ต้น ทั้งที่รัฐบาลสามารถทำได้ และมีหลายคนแนะนำรัฐบาล ซึ่งในช่วงเวลานั้น รัฐบาลสาละวนอยู่กับการออกกฎหมายพิเศษกู้เงิน ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อผ่านสภาก็จริง แต่เหมือนไม่ผ่าน ประเด็นอยู่ที่ว่า ในที่สุดก็ต้องเอาจากงบประมาณ ปี 2567 เมื่อไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว รัฐบาลมีความจำเป็นและตนเห็นว่ารัฐบาลต้องแถลงให้ชัดเจนว่า การนำงบประมาณ ปี 2567 ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท รัฐบาลจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติโอนงบ ประมาณรายจ่ายประจำปี ผ่านสภาตามปกติซึ่งการออกกฎหมายเช่นนี้ จะต้องทำเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น
แต่สิ่งสำคัญการที่จะตัดงบประมาณออกมาได้ 1.3 แสนล้านบาท มีข่าวที่คาดการณ์กันว่า น่าจะตัดมาจากงบกลาง ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท จึงเป็นร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณที่แปลกกว่าทุกฉบับที่เคยมีมา เนื่องจากปกติจะตัดจากหน่วยงานอื่นๆ มาไว้ที่งบกลาง แต่กรณีนี้จะตัดจากงบกลาง มาไว้เพื่อใช้ในโครงการใหม่ ที่ไม่เคยมีการพิจารณาในชั้นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และหากรัฐบาลจะออกร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี เมื่อไม่มีการระบุเช่นนี้ เงื่อนเวลาจึงสำคัญ เพราะถ้าเผื่อออกกฎหมายโอนงบประมาณมาก่อน จะรู้ได้อย่างไรว่างบกลางจะเหลือ หากก่อน 30 กันยายน เกิดเหตุฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วน
ที่ต้องใช้งบกลาง สามารถอธิบายได้หรือไม่ ที่จำเป็นต้องหารือวันนี้ไปยังรัฐบาล เพราะถ้าไม่พูดวันนี้ ก็จะไม่ได้พูด เปิดประชุมสมัยประชุม 3 กรกฎาคม เรื่องทั้งหมดจะผ่านไปแล้ว ดังนั้น ประเด็นทั้งหมด จึงฝากไปยังรัฐบาลให้มีความชัดเจนว่า จะใช้วิธีการใดในการโอนงบประมาณงบ ปี 2567 ออกไป ซึ่งแน่นอนจะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ ก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจน เพื่อจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายในกรณีที่เกิดความจำเป็นเร่งด่วน หากต้องใช้งบกลางในอนาคต