สพฐ.คลอดมาตรการสกัดปัญหาจัดอาหารกลางวันเด็กปี 67
24 เม.ย. 2567, 14:19
วันนี้ ( 24 เม.ย.67 ) ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการอาหารกลางวันปีการศึกษา 2567 ว่าในปีงบประมาณ 2568 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน รวมกว่า 2.5 พันล้านบาท จัดสรรให้โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรุงเทพมหานคร สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อลดภาระผู้ปกครอง และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยจะมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาทุกสังกัด ได้รับอาหารกลางวัน จำนวน 575,983 คน ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้จัดทำมาตรการและแนวทางในการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน โดยปรับปรุงคู่มือการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ประจำปี 2567 ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้โรงเรียนใช้เป็นแนวทางดำเนินการอาหารกลางวันได้อย่างถูกต้อง ลดภาระครู รวมถึงให้หน่วยตรวจสอบใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ สพฐ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้รับผิดชอบงานโครงการอาหารกลางวันของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งหมด และให้ขยายผลไปยังโรงเรียนในสังกัด เพื่อป้องกันปัญหาการดำเนินงานที่ขัดต่อระเบียบของผู้ปฏิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น
“ที่ผ่านมา สพฐ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดทั้งในเมือง และในพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง โดยไม่แจ้งให้โรงเรียนให้ทราบล่วงหน้า และพบว่า เรื่องที่โรงเรียนอาจปฏิบัติไม่ถูกต้อง คือ การจัดซื้อจัดจ้าง ความสะอาดของโรงอาหาร การจัดสำรับอาหาร ปัญหาและอุปสรรคการขนส่งวัตถุดิบอาหารกลางวัน ปัญหาของเด็กเกิดภาวะทฺพโภชนาการ และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า เป็นต้น จึงได้นำปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานอาหารกลางวัน มาจัดทำเป็นมาตรการ แนวทาง คำแนะนำและคู่มือดังกล่าว พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้พัฒนาโปรแกรม Thai School Lunch เพิ่มการเปลี่ยนแปลงรายการเมนูอาหารภายในวัน เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและสามารถอัปโหลดรูปภาพอาหารแต่ละวันแบบ Online real time ซึ่งจะทำให้โรงเรียนจัดอาหารกลางวันที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ คุ้มค่า เกิดความตระหนัก และใส่ใจในการดำเนินงานอาหารกลางวัน ขณะเดียวกันสำนักงานเขตพื้นที่ฯก็สามารถใช้โปรแกรม Thai School Lunch เข้าไป กำกับ ติดตาม ตรวจสอบความถูกต้องของเมนูอาหารกลางวันของโรงเรียนในสังกัดได้” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ. ยังได้เตรียมการทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อป้องกันการทุจริตการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินงานอาหารกลางวันทุกสังกัดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมั่นใจได้ว่าโรงเรียนจะได้รับเงินค่าอาหารกลางวันทันเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 นี้