รัฐบาลไทย เดินหน้าสร้างสังคมสันติสุขให้ได้อย่างยั่งยืนผ่านกลไกสถาบันศาสนา
20 พ.ค. 2567, 14:45
วันนี้ ( 20 พ.ค.67 ) นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พุทธวิถีสู่การสร้างความไว้วางใจและความสามัคคี” ในพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 19 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ตอนหนึ่งว่า
รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญของการนำหลักศาสนามาพัฒนาจิตใจและปัญญา ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า จะส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อบ่มเพาะและยกระดับความไว้วางใจ เกิดความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของพลเมืองไทย ผ่านการขับเคลื่อนด้วยบันได 4 ขั้นคือ
1. โอบอ้อมเอื้ออารี หรือทาน ที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการผ่าน “โครงการทำเนียบช่วยได้” ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบกับปัญหาต่าง ๆ กระตุ้นให้เกิดไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท
2. สื่อสารดีและไพเราะ หรือปิยวาจา โดยได้ให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ ของกรมประชาสัมพันธ์ ออกแบบรูปแบบรายการและกิจกรรมที่เสริมสร้างความรัก ความสามัคคี รวมถึงการสื่อสารของเยาวชนให้สามารถใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน ไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม
3. สงเคราะห์หมู่ชน หรืออัตถจริยา รัฐบาลได้น้อมนำพระบรมราโชบาย “ทำความดีด้วยหัวใจ” และโครงการจิตอาสาตามแนวพระราชดำริมาประยุกต์เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการและกิจกรรมต่าง รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมและการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ไทย ด้วยการจัดให้มี ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
4. คือการวางตนให้เหมาะสม หรือสมานัตตตา รัฐบาลไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ในการดำเนินชีวิต และประกอบธุรกิจเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียต่อสังคม ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
นายพิชิตย้ำในช่วงท้ายว่า ความไว้วางใจ เป็นรากฐานสำคัญของความสมัครสมานสามัคคีของครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับโลก รัฐบาลไทยได้ทุ่มเทสรรพกำลังทั้งคนและงบประมาณ ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสร้างสังคมสันติสุขให้ได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับหัวข้อหลักของการจัดงานในปีนี้ และสอดรับกับพุทธประสงค์ที่ว่า “สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความสามัคคีของหมู่ทำให้เกิดสุข” โดยการใช้หลักสังคหวัตถุธรรม มาเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกันและกัน