ครม. ไฟเขียว! ยกเว้นภาษีฯ สำหรับเงินชดเชยฯ โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน
15 มิ.ย. 2567, 09:13
วันนี้ (15 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินชดเชยเยียวยาที่ได้รับจากกรมประมงตามโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กรมประมงได้จัดทำโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1. โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) มีเรือประมงออกนอกระบบ จำนวน 305 ลำ วงเงิน 764,454,100 บาท และมีเรือประมงไม่ประสงค์รับเงินเยียวยา จำนวน 1 ลำ เป็นเงิน 8,791,500 บาท ยังคงเหลือเรือประมงที่ได้รับสิทธิเยียวยา จำนวน 304 ลำ เป็นเงิน 755,662,600 บาท ซึ่งกรมประมงได้แบ่งจ่ายเงินให้แก่เจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบ ออกเป็น 2 ช่วง ซึ่งไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
2. โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบฯ ระยะที่ 2 มีเรือประมงออกนอกระบบ จำนวน 59 ลำ วงเงิน 287,181,800 บาท และมีเรือประมงไม่ประสงค์รับเงินเยียวยา จำนวน 3 ลำ เป็นเงิน 24,552,000 บาท และไม่ได้รับสิทธิการเยียวยา จำนวน 1 ลำ เป็นเงิน 841,400 บาท ดังนั้น ยังคงเหลือเรือประมงที่ได้รับสิทธิการเยียวยา จำนวน 55 ลำ เป็นเงิน 261,788,400 บาท ซึ่งกรมประมงได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ซึ่งมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของการจ่ายเงินทั้ง 2 งวด
ทั้งนี้ สำหรับการชดเชยเยียวยาจากโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบทั้ง 2 ระยะดังกล่าว กำหนดให้เจ้าของเรือต้องเป็นผู้ดำเนินการแยกชิ้นส่วนหรือทำลายเรือประมง จึงจะได้รับเงินชดเชยเยียวยาจากโครงการดังกล่าว กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีให้เจ้าของเรือประมง ในการมีทุนในการประกอบอาชีพอื่น และบรรเทาหนี้สินอันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือ อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี ให้แก่เจ้าของเรือประมงที่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาจากกรมประมงในโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) และระยะที่ 2 โดยหากได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล เจ้าของเรือประมงสามารถขอคืนภาษีอากรและภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไว้มากกว่ามูลค่าภาษีที่ตนเองมีหน้าที่ต้องจ่ายจริงภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี กค. จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี - บุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
2. สิทธิประโยชน์ทางภาษี - ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล
3. วันบังคับใช้ – วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดย กรมสรรพากรคาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีรวมประมาณ 58.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 48.1 ล้านบาท และภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 10.5 ล้านบาท และกรมสรรพากรต้องคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประมาณ 2.6 ล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรสามารถดำเนินการได้