เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.ผ่านหลักการโครงการ จ.นครพนม-นครราชสีมา-นครศรีฯ 9 โครงการ วงเงิน 272 ล้าน


18 มิ.ย. 2567, 16:10



ครม.ผ่านหลักการโครงการ จ.นครพนม-นครราชสีมา-นครศรีฯ 9 โครงการ วงเงิน 272 ล้าน




วันนี้ ( 18 มิ.ย.67 ) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการของจังหวัด จำนวน 9 โครงการ ภายในกรอบวงเงิน 272,718,200 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการของจังหวัดนครพนม จำนวน 3 โครงการ ภายในวงเงิน 108,193,200 บาท จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 โครงการ ภายในวงเงิน 134,525,000 บาท และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 โครงการ ภายในวงเงิน 30,000,000 บาท โดยให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ขอให้จังหวัดจัดทำโครงการและรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ตามนัยของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งให้จังหวัดนำโครงการบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สืบเนื่องจากการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีในพื้นที่จังหวัดนครพนม (17 กุมภาพันธ์ 2567) นครราชสีมา (24 มีนาคม 2567) และนครศรีธรรมราช (8 เมษายน 2567) และได้มีข้อสั่งการให้จังหวัดจัดทำข้อเสนอแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชนและพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล ต่อมาทั้ง 3 จังหวัดได้จัดทำข้อเสนอแผนงาน/โครงการตามข้อสั่งการฯ จำนวน 9 โครงการ ภายในกรอบวงเงิน 272,718,200 บาท ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและไม่อยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งงบประมาณอื่น และได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองและเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด (กรอ. จังหวัด) แล้ว สรุปดังนี้
 
1. จังหวัดนครพนม จำนวน 3 โครงการ ภายในวงเงิน 108,193,200 บาท โดยโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (จังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร) แลแผนพัฒนาจังหวัดนครพนม ประกอบด้วย
- โครงการสร้างอัตลักษณ์เมือง (DNA) และ Marketing ภายใต้ 5 Must (Visit, Eat, Shop, Mu, Rest) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดและการยกระดับเมืองรองสู่เมืองหลัก โดยมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ เช่น จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยว 5 เส้นทาง พัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนและบริการการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน 60 ผลิตภัณฑ์
-โครงการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์ ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
-โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ บ้านนาขมิ้น ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม
 
2. จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 โครงการ ภายในวงเงิน 134,525,000 บาท โดยโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) แลแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย
- โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองผักขม ตำบลพันดุง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ความยาว 20 เมตร จำนวน 1 แห่ง
- โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามบ้านทองหลาง ตำบลในเมือง-บ้านหัวทำนบ ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ความยาว 60 เมตร จำนวน 1 แห่ง
- โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมเชิงลาดสะพาน ถนนสายบ้านวังม่วง-บ้านกระเบื้อง ตำบลทุ่งสว่าง อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ความยาว 60 เมตร จำนวน 1 แห่ง
-โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองสะแก บ้านหนองรัง ตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ความยาว 15 เมตร และความยาว 20 เมตร จำนวน 2 แห่ง
-โครงการพัฒนาระบบบริการและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จังหวัดนครราชสีมา (ครุภัณฑ์ทางการแพทย์)
 
3. จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 โครงการ ภายในวงเงิน 30,000,000 บาท โดยโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา) แลแผนพัฒนาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่
- โครงการปรับปรุงถนน นศ.4073 แยกทางหลวงหมายเลข 4014-หาดในเพลา อำเภอขนอม และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะยทาง 14.17 กิโลเมตร
 
หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอแผนงาน/โครงการของจังหวัด จะต้องเป็นแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันที หากได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และเป็นแผนงาน/โครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยเป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ รวมทั้งเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาของ กรอ. จังหวัด ของแต่ละจังหวัด









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.