ปภ.แจ้ง 13 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสาน เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 3 – 8 ส.ค. 67
3 ส.ค. 2567, 10:02
วันนี้ (3 ส.ค. 67) เวลา 09.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 13 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 3 – 8 ส.ค. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ พบว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาตอนบน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ระหว่างวันที่ 3 – 8 สิงหาคม 2567 แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอสบเมย) เชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย อำเภอฝาง อำเภอเวียงแหง อำเภอพร้าว อำเภอแม่ออน) เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น อำเภอแม่จัน อำเภอดอยหลวง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอพญาเม็งราย อำเภอขุนตาล อำเภอเวียงชัย อำเภอเทิง อำเภอแม่ลาว) ลำปาง (อำเภอวังเหนือ อำเภอแม่ทะ) พะเยา (อำเภอ ภูซาง อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอดอกคำใต้) แพร่ (อำเภอร้องกวาง อำเภอลอง) น่าน (อำเภอเมืองน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสองแคว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอปัว อำเภอท่าวังผา อำเภอสันติสุข อำเภอแม่จริม) อุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อำเภอท่าปลา) ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด) และพิษณุโลก (อำเภอนครไทย)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย (อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม) หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี) และบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ อำเภอบุ่งคล้า อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง)
พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา น่าน พิษณุโลก เลย หนองคาย บึงกาฬ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลำน้ำงาว (อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย) แม่น้ำสาย (อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) แม่น้ำน่าน (อำเภอเมืองน่าน อำเภอเวียงสา อำเภอเชียงกลาง อำเภอภูเพียง และอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน) แม่น้ำยม (อำเภอปง จังหวัดพะเยา อำเภอสอง และอำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก) ลำน้ำปาด (อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์) และแม่น้ำแควน้อย (อำเภอนครไทย และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 13 จังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 7 สกลนคร ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 8 กำแพงเพชร ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 พิษณุโลก ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 14 อุดรธานี และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักในบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มได้ โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ ปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป