การเคหะแห่งชาติ ยันผลตรวจสอบโครงการบ้านสบายเพื่อยายตาไม่ตรงปกจริง สั่งปรับแก้ใหม่ทั้งหลัง
10 ส.ค. 2567, 05:23
วันที่ 9 ส.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสุกัญญา สันทอง คณะทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และเลขานุการ การเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาว กัญญ์วรา ศรีณรงค์ คณะทำงานด้านการบริหารงานก่อสร้าง นางสาวอภิญญา ยิ้มนิยม คณะทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้ช่วยเลขานุการ การเคหะแห่งชาติ เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการสร้าง"บ้านสบายเพื่อยายตา" ที่บ้านของ นายสุโข เขียวหวาน อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 5/2 หมู่ 3 ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ว่าบ้านหลังดังกล่าวสร้างไม่ตรงปก ไม่สมกับราคาเงินงบประมาณที่กำหนดไว้ให้กับบ้านหลังดังกล่าว จำนวน 80,455 บาท ซึ่งทาง อบต.กุยเหนือเป็นผู้รับดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมต่อเติมสร้างบ้านของผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ โดยตรงจากการเคหะแห่งชาติ
โดยมี นายชัยชาญ มูลมาก ปลัดอาวุโส อำเภอกุยบุรี นายชัยวุฒิ คุณาธิมาพันธ์ ปลัดอำเภอกุยบุรี ประจำตำบลกุยเหนือ นายมารุต ตั้งบูรพาจิตต์ กำนันตำบลกุยเหนือ นายณรงค์ สาหร่าย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านโพเรียง นายอิ้น หนวดพราหมณ์ นายก อบต.กุยเหนือ นางสาวพึงพิศ จันทร์ชูกลิ่น หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.กุยเหนือ พร้อมเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับการเคหะแห่งชาติ
โอกาสนี้ การเคหะแห่งชาติยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการบ้านที่เหลือเพิ่มเติมอีกจำนวน 3 หลัง ซึ่ง อบต.กุยเหนือ เป็นผู้รับดำเนินการ และช่างผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นบุคคลเดียวกัน ประกอบด้วยบ้านของ นางสาวทองศรี สัตย์ซื่อ อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 49 หมู่ 7 ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี ซึ่งปรับปรุงที่อยู่อาศัยตามสภาพและห้องน้ำ วงเงินจำนวน 69935 บาท หลังที่ 2 บ้านของนางสอน จันทร์ลาด อายุ 99 ปี บ้านเลขที่ 33 หมู่ 2 ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี ปรับปรุงห้องน้ำวงเงินงบประมาณ จำนวน 20930 บาท และหลังที่ 3 บ้านของนายจันทร์ แก้วมณี อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 20/2 หมู่ 8 ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี ปรับปรุงที่อยู่อาศัยตามสภาพและห้องน้ำ วงเงินงบประมาณจำนวน 40725 บาท
นางสาวสุกัญญา สันทอง คณะทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และเลขานุการ การเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาว กัญญ์วรา ศรีณรงค์ คณะทำงานด้านการบริหารงานก่อสร้าง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบครั้งนี้เบื้องต้นพบว่าการปรับปรุงบ้านหลังนี้ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ละเอียดตรงตามวัตถุประสงค์ของการเคหะแห่งชาติ โดยมีบางรายการที่ยังไม่ได้ทำ จึงอยากให้ทาง อบต.และผู้รับเหมาดำเนินการแก้ไขให้ใหม่ทั้งหมดให้ตรงตามที่การเคหะแห่งชาติกำหนด ซึ่งจากการตรวจสอบรายการวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างโดยมียอดกว่า 40,000 บาท ไม่สมกับราคาที่สร้างจริง จึงได้ตัดสินให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขใหม่ทั้งหมดให้ตรงกับรายละเอียดที่ทางการเคหะแห่งชาติได้อนุมัติให้ไป ซึ่งในส่วนของพื้นที่อำเภอกุยบุรีได้รับโครงการปรับปรุงสร้างบ้านจากการเคหะไปทั้งหมดจำนวน 4 หลัง เมื่อเกิดกรณีที่มีการร้องเรียนบ้านหลังนี้ทางการเคหะก็จะต้องเข้าดำเนินการตรวจสอบโครงการบ้านที่เหลือทั้งหมดอีกจำนวน 3 หลังพร้อมกัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า จากกรณีการร้องเรียนในครั้งนี้รู้สึกบั่นทอนจิตใจของการเคหะ เนื่องจากตั้งแต่ทำโครงการมายังไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ขึ้น แต่อย่างไรการเคหะก็ไม่ท้อใจที่จะจัดงบประมาณทำโครงการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุต่อไป แต่อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยสร้างให้ตรงปก ตรงกับรายการที่ทางการเคหะได้อนุมัติไป
นายอิ้น หนวดพราหมณ์ นายก อบต.กุยเหนือ ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นเกิดจากการสื่อสารระหว่าง อบต.กับการเคหะที่คาดเคลื่อน ความเข้าใจในการสื่อสารเรื่องการก่อสร้างไม่ตรงกัน เนื่องจากทาง อบต.เข้าใจว่าทางการเคหะ ให้ปรับปรุงซ่อมแซมจากของที่มีอยู่เดิมให้มันดีขึ้น อาทิเช่น ผนังบ้านเดิมใช้เป็นกระเบื้องแผ่นเรียบก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนใหม่เพิ่มเติมเฉพาะบริเวณในส่วนที่ชำรุดเสียหาย หรือขาดหายไป ดังนั้นทาง อบต.จึงได้ดำเนินการเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาใหม่ทั้งหมดแทนของเก่า แต่ใช้ไม้โครงหลังคาเดิม เปลี่ยนหน้าต่างใหม่ และเปลี่ยนผนังเพิ่มเติมจากของเก่า เป็นต้น ซึ่งเมื่อการเคหะได้มาตรวจสอบแล้วไม่พึงพอใจ ต้องการให้ทาง อบต.และผู้รับเหมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ใหม่ทั้งหมด อบต.ก็ยินดีรับไปดำเนินการให้ตรงตามกับวัตถุประสงค์ของการเคหะแห่งชาติ นายก อบต.กล่าว**
**ด้าน นายชัยชาญ มูลมาก ปลัดอาวุโสอำเภอกุยบุรี ผู้แทนนายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน ว่าการต่อเติมสร้างบ้านไม่เรียบร้อย และได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบ เบื้องต้นก็พบว่าไม่เรียบร้อยจริงตามอ้าง จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังการเคหะแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าของเงินให้ลงพื้นที่มาร่วมกันตรวจสอบ โดยแนวทางการช่วยเหลือก็ต้องปรับปรุงกันไป เพราะทั้ง อบต.และกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต่างก็มีหน้าที่ช่วยเหลือราษฎรเหมือนกัน บางครั้งมีเรื่องที่ไม่เข้าใจกัน ความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องขอให้ยุติแล้วมาช่วยกันทำงานให้ราษฎรต่อไป โดยบ้านหลังนี้ทางอำเภอจะเข้ามาติดตามดูเป็นระยะเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้การก่อสร้างแล้วเสร็จให้ได้ โดยหลังจากนี้ทางอำเภอจะได้ประสานกับหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยเหลือในส่วนที่ยังขาดหายไปอีกทางหนึ่ง เช่น กาชาด เหล่ากาชาดจังหวัด และภาคเอกชนในพื้นที่ อาทิ ถุงยังชีพ ที่นอน หมอน มุ้ง เป็นต้น นายชัยชาญ กล่าว