แห่งเดียว จ.เลย คลังเก็บ "ตูบเสียมตุ่นโบราณ" ยุคดึกดำบรรพ์หมื่นปี
29 ต.ค. 2562, 13:12
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า มีสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งจัดเก็บวัตถุโบราณที่มีอายุหลายพันปี มีอดีตนิติกรชำนาญการพิเศษ ที่มีการเก็บสะสมเสียมตุ่นโบราณ มากว่า 20 ปี จากท้องถิ่นมารวบรวมไว้ที่บ้านเพื่อให้นักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษา ผู้ที่สนใจได้ชม ตูบเสียมตุ่นโบราณ คลังอาวุธมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ในพื้นที่ อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย กว่า 2,500 ชิ้น นำมาแสดงให้ชมฟรี
นายปัญจพล จำปานิล อดีตนิติกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลยเขต 1 กล่าวว่า เสียมตุ่น คือเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายขวาน หรือเสียม ซึ่งเป็นของมนุษย์โบราณ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีพในลักษณะต่างๆ เช่น เป็นอาวุธในการต่อสู้ป้องกันตัว การล่าสัตว์ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ ขุดสับ ตัดหรือทำอื่นๆ ก่อนที่จะมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นโลหะในยุคต่อมา
ทำไมจึงเรียกเสียมตุ่น เสียมตุ่น เป็นคำที่ใช้ในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งที่มาของชื่อเสียมตุ่นน่าจะมาจากการที่ชาวบ้านได้พบวัตถุประหลาดนี้เป็นครั้งแรกขณะที่กำลังขุดตัวตุ่น ซึ่งปกติจะพบขุยดินเป็นกองใหญ่บ่งบอกตรงนี้ มีตุ่นขุดรูและอาศัยอยู่ จึงมีความเชื่อว่าตุ่น อยู่ในรูนี้ ส่วนชาวบ้านภาคกลางจะเรียกสิ่งนี้ว่า ขวานฟ้าผ่า เชื่อว่าเป็นขวานที่รามสูรย์ที่ขว้างใส่เมฆหลาแล้วหลุดจากด้ามตกลงมา ในทางวิชาการจริงๆ แล้วเสียมตุ่นหรือ ขวานหิน หรือเครื่องมือหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ ในชีวิตประจำวัน ของมนุษย์ยุคหินหรือยุคก่อนประวัติศาสตร์ นั่นเอง
นายปัญจพล กล่าวต่ออีกว่า ตนเริ่มต้นการค้นพบ ประมาณปี พ.ศ. 2545 จากการที่ นายไพ กาแก้ว ซึ่งเป็นครูผู้สอนวิชา สังคมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนชุมชนบ้านอาฮี มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ในยุคต่างๆ มาเล่าให้ฟังว่านักเรียนบางคนในชั้นบอกว่าพ่อแม่ของเขาให้เก็บหินที่มีลักษณะคล้ายๆ รูปภาพที่ปรากฏในหนังสือเรียนได้ที่บ้านด้วยจึงมีความสนใจและชวนกันออกไปดูซึ่งก็เป็นได้อย่างที่บอกมา จากนั้นก็ได้ชวนนักเรียนออกไปสำรวจตามไร่ปลายนา ในพื้นที่ บ้านอาฮี บ้านหนองปกติ บ้านห้วยคัง ในตำบลอาฮีปัจจุบัน และหากว่าในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ จะไปค้นหา และได้พบกับสิ่งเหล่านี้ จากนั้นก็นำไปรวบรวมมาเก็บไว้ที่ห้องสมุด ของโรงเรียนและร่วมกันจัดทำทะเบียนไว้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
แนวคิดในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เมื่อรวบรวมได้มากขึ้นก็เริ่มคิดที่จะเก็บไว้เป็นที่เป็นทางและจัดแสดงเพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่สนใจด้านโบราณคดีให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แต่ก็ติดปัญหา ด้านผู้ดูแล และการจัดการจึงได้นำไปเก็บไว้ที่ ศาลาการเปรียญของวัดศิริมงคล บ้านอาฮี อยู่ช่วงหนึ่ง จนไม่มีที่เก็บ และมีการทำศาลาการเปรียญหลังใหม่ จนต้องย้ายมาเก็บและรักษาไว้เองที่บ้าน และสะสมเพิ่มมากขึ้น มีการไปหาเพิ่มเติม และตัดสินใจนำทั้งหมดมาแสดง ในพิพิธภันฑ์โดยใช้ชื่อว่า ตูบเสียมตุ่น ซึ่งตูบ หมายถึงเพิงพักเล็กๆ ส่วนเสียมตุ่น ก็หมายถึง เครื่องมือหิน ดังที่กล่าวมา
สำหรับอายุของเครื่องมือหินที่นี่ ปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ ทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับอายุของเครื่องมือหิน จึงมีเพียงการสันนิษฐานว่า อยู่ในยุคหินใหม่ต่อเนื่องยุคโลหะ ซึ่งยุคหินใหม่ในบางพื้นที่ หรือในต่างประเทศ จะอยู่ประมาณ 5,000 ปี ถึง 10,000 ปี ส่วนในประเทศไทย จะอยู่ราว 2,000-6,000 ปี แต่อย่างไรก็ตามขวานหินบางส่วนจะถูกผลิตขึ้นในยุคโลหะ เนื่องจากเครื่องมือโลหะ ยังไม่พอใช้จึงต้องนำหินมาใช้เป็นเครื่องมือเสริม และคาดว่าบริเวณนี้ อดีตจะเป็นเมืองเล็กๆ ที่เรียกว่าเมืองตูม เพราะมีชื่อวัดเมืองตูมธรรมาราม หลงเหลืออยู่ให้เห็นในปัจจุบัน
ข้อมูลเพิ่มเติม นายปัญจพล จำปานิล อดีต นิติกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเลยเขต 1 ปัจจุบัน เกษียณ มาแล้ว 4 ปี และจากเกษียนราชการมาแล้ว ทำหน้าที่ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายขององค์กรต่างๆ
สนใจ เข้าศึกษาดูงาน เยี่ยมชม ตูบเสียมตุ่นโบราณ ได้ที่ 71/2 หมู่ที่ 6 บ้านอาฮี ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย นายปัญจพล จำปานิล โทรศัพท์ 0831499948