ทช.บึงกาฬ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมถนนเลี่ยงเมือง ทล.212-222
30 ส.ค. 2567, 05:20
วันที่ 29 ส.ค.ที่ห้องประชุมสิรินธารา2 โรงแรมเดอะวัน จ.บึงกาฬ แขวงทางหลวงชนบท เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบส่วนต่อขยายถนนเลี่ยงเมืองแนวใหม่ด่านศุลกากรบึงกาฬ - ทล.212-222 อ.เมือง จ.บึงกาฬ โดยนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ประธานเปิดการประชุมฯ มีนายไพวรรน์ ตันมารัตน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทบึงกาฬ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ พร้อมด้วยนายจิรานุวัฒน์ จันทร์จร วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมทางหลวงชนบท นายสมหวัง อารีย์เอื้อ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ผู้แทนปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าร่วมงานกว่า 400 คน ภายในงานมีการรับชมวิดีทัศน์โครงการ ซึ่งนำเสนอรายละเอียดข้อมูลโครงการ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน การรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ รวมถึงการสรุปประเด็นจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ โดยมีวิทยากรที่ปรึกษาโครงการอาทิ นายพงษ์ธร ตุ้นคำ วิศวกรโครงการ นางรังษิยา กมลพนัส ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม นายปรมินทร์ อรุณรัตน์ วิศวกรโครงการ ผศ.ดร.จำรัส พิทักษ์ศฤงคาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและจราจร และผศ.กฤตยชล ทองธรรมสถิต ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน มาร่วมให้ข้อมูลข้อเสนอแนะแก้ไขผลกระทบของโครงการ
นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ ผวจ. กล่าวว่า วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีเวทีในการแสดงความคิดเห็น ให้ชาวบึงกาฬได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือปัญหาต่างๆ เพื่อให้ผู้รับผิดชอบโครงการได้นำข้อมูลไปปรับปรุงพัฒนาโครงการต่อไป เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากโครงการนี้คือชาวบึงกาฬทุกคน และสิ่งนี้คืออนาคตของจังหวัดบึงกาฬที่จะได้รับความเจริญรุ่งเรืองเพิ่มมากขึ้นในวันข้างหน้า ประกอบกับการมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ -บอลิคำไซ ที่ใกล้จะเสร็จในต้นปีหน้า รวมถึงถนนทางหลวง 4 ช่องจราจร จ.อุดรธานี - จ.บึงกาฬ และสนามบินบึงกาฬ ในอนาคต ความเจริญและเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง เป็นการแก้ไขปัญหาการคมนาคมในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ จะนำมาซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างรายได้ที่มากขึ้นของพ่อแม่พี่
น้องชาวบึงกาฬทุกคน
นายไพวรรน์ ตันมารัตน์ ผอ.ทช.บึงกาฬ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดบึงกาฬ เป็นเมืองเศรษฐกิจชายแดน เป็นตลาดการค้าที่เชื่อมต่อกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ซึ่งเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งงานแหล่งรายได้ของคนในพื้นที่ และยังมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้เองทำให้จังหวัดบึงกาฬมีการเติบโตพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเกิดการขยายตัวของย่านการค้า และที่พักอาศัย ส่งผลให้ปริมาณการจราจรของจังหวัดบึงกาฬเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยและเพื่อรองรับความต้องการเดินทาง และการขยายตัวของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2563 กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินโครงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบส่วนต่อขยายถนนเลี่ยงเมืองแนวใหม่ด่านศุลกากรบึงกาฬ - ทล.212 ช่วง บึงกาฬ-หนองคาย ถึง ทล.222 ช่วงบึงกาฬ-พังโคนและก็เชื่อมต่อมายัง ทล. 212 (ถนนชยางกูร)ช่วงบึงกาฬ-หนองคาย เป็นทางเลี่ยงเมืองแนวใหม่ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งจากการศึกษาพบว่าแนวสายทางโครงการอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ระหว่างประเทศในระยะ 2 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงต่อเติมโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการสร้างทางเชื่อมหรือ Missing Link ให้สมบูรณ์ ยิ่งขึ้น และยังสามารถพัฒนาเป็น ทางลัดทางเลี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง ท่องเที่ยว ขนส่งสินค้า ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเมือง และเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ ได้อีกทางหนึ่ง กรมทางหลวงชนบท โดยสำนักสำรวจและออกแบบ จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท อาร์มมี่เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เอ็นไวโรนเมนท์ จำกัด และบริษัท เอเซีย แล็ป แอนด์คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว
ด้านนายจิรานุวัฒน์ จันทร์จร วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมทางหลวงชนบท กล่าวทิ้งท้ายว่า ในนามกรมทางหลวง ขอขอบคุณในความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้มีส่วนร่วมประชุมทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจในโครงการ และได้สละเวลาอันมีค่าเข้าร่วมประชุมในวันนี้ พร้อมทั้งได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก กรมทางหลวงชนบทจะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมประชุม ไปใช้ประกอบการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชนน้อยที่สุด
สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของการศึกษา ขอบเขตการศึกษาการตรวจสอบข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ด้านนายสุนทร วังสะพันธ์ เสนอแน่ว่าอยากให้สร้างถนนไปตามขอบหนองกุดทิง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ส่วนจุดตัดถนนต่างๆ ขอให้เป็นสี่แยกไฟแดงหรือ วงเวียน และจุดยูเทิร์นตามถนนหลวง 222 ขออย่าให้ห่างมากนักเหมือนทุกวันนี้ จะทำให้คนขี่รถ จยย.ขับย้อนศรจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่นเดียวกันกับ นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้า เสนอว่าอยากให้สร้างถนนช่วงต่อขยายไปตามแนวเขตหนองกุดทิง ปลูกต้นดอกไม้เป็นดอกสีม่วง ซึ่งจะเป็นแหล่ง ททท.ไปในตัวด้วย
ส่วนนายแพทย์กมล แซ่ปึง ผอ.รพ.บึงกาฬ ซึ่งอาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะตามเส้นทางเลือกที่ 1-2-3-4 จะไปออกตรงข้างบ้าน นพ.กมล จะได้รับผลกระทบทั้งเสียงมลพิษทางอากาศ ได้เสนอแนะเลี่ยงไปว่า เคยขับรถไปดูพื้นที่หนองกุดทิงมาแล้ว สวยงามมาก ถ้าถนนเลี่ยงเมืองส่วนต่อขยายออกไปทางนั้นก็จะได้ชมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติไปด้วย จุดตัดสี่แยกต่างๆ ก็จะห่างกันทำให้การระบายการจราจรได้ดีกว่า เช่นเดียวกับ นายธนาพงษ์ แสนสุภา รองนายก เทศบาลเมืองบึงกาฬ แนะนำว่า ถ้าโครงการส่วนต่อขยายไปสิ้นสุดอยู่ข้างบ้าน นพ.กมล และจรดอยู่ที่ถนน ทล.212 ตรงนั้นจะไม่เหมาะสม จะต้องอ้อมไปด้านหลังบ้าน ผอ.นพ.กมล แล้วลัดเลาะตามหนองกุดทิงไปสิ้นสุดโครงการที่ข้างศูนย์ราชการ
ส่วนนายนิธิศักดิ์ เศรษฐแสงศรี ปธ.ชมรมสื่อมวลชน เสนอแนะว่า จุดตัดถนนต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 4 จุดคือ ตัดถนน 212 สองจุด ตัดถนนเข้าวิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ หนึ่งจุดและตัดถนนสาย 222 หนึ่งจุดขอเป็นถนนทางรถข้ามทั้งหมด เนื่องจากหากเป็นไฟแดงวัยรุ่นมักจะขับขี่รถฝ่าไฟแดงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ถ้าเป็นถนนทางรถข้ามก็จะทำให้ผู้ขับขี่และผู้ไม่เกี่ยวข้องปลอดภัยกว่า.