รองผู้ว่าฯ ตรัง พร้อมคณะ เดินทางไปเยี่ยม-ให้กำลังใจ จนท. ดูแลพะยูนน้อย "น้องมาเรียม"
14 มิ.ย. 2562, 14:05
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณอ่าวดุหยง ใกล้เขาบาตู หมู่ 4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทีมแพทย์ทั้งจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กลุ่มพิทักษ์ดุหยง ร่วมกันอนุบาลพะยูนน้อย "น้องมาเรียม" นั้น ล่าสุด นางณิทฐา แสวงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายศุภศักดิ์ ศรีหมาน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลพะยูนน้อย "น้องมาเรียม" โดยมี นายเมธี มีชัย ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง และกำนันในพื้นที่ร่วมพูดคุย เพื่อรับทราบสภาพปัญหาในพื้นที่
ทั้งนี้ หลังจากมีกระแสข่าวเรื่องน้องมาเรียม พะยูนน้อยในทะเลตรัง ทำให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวรู้จักพะยูน เกาะลิบง และจังหวัดตรังกันมากขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่า พะยูนฝูงใหญ่ในประเทศอยู่ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ทำให้มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินมาชมพะยูนกันเป็นจำนวนมาก และขณะนี้เจ้ามาเรียม ได้กลายเป็นขวัญใจของคนไทยไปแล้ว ซึ่งการทำงานดูแลอนุบาลพะยูนน้อย ได้เห็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ก็เป็นกำลังใจให้ และทำเต็มที่ ส่วนตัวมาเห็นสภาพพื้นที่แล้วพบว่า เกาะลิบงมีโอกาสที่จะพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะเส้นทางยังไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาหลายสาย แม้แต่เส้นทางที่จะเดินทางมาดูพะยูนน้อย ระยะทางประมาณ 2 กม.เศษ ยังเป็นถนนลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ ลำบากต่อการสัญจร โดยเฉพาะในหน้าฝน จึงสมควรที่จะได้รับการพัฒนา จะได้ประสานไปยังหน่วยงานรับผิดชอบลงมาดูแลอย่างจริงจัง
รวมทั้งจะประสานของบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งงบพัฒนาจังหวัดก็จะได้เตรียมการกันต่อไป เพื่อรองรับการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต อีกทั้งต้องพัฒนากลุ่มอาชีพ ต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เรื่องความสะอาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาแล้วเกิดความประทับใจ ทั้งประทับใจพะยูนและความเป็นอยู่ของชาวบ้านชุมชนเกาะลิบง ขณะเดียวกัน การดูแลทรัพยากรธรรมชาติในทะเลและชายฝั่ง ก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่จังหวัดทำมาตลอด และจะทำต่อไป โดยเฉพาะการส่งเสริมเพาะพันธุ์หญ้าทะเล เพื่อนำไปปลูกเพิ่มแหล่งหญ้าทะเลอาหารสำคัญของพะยูน และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เพียงพอ เพราะหญ้าทะเลเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล โดยมีชุมชนชายฝั่งร่วมกันดูแลทรัพยากรและพะยูน และเตรียมผลักดันแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่พะยูน และการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด เพื่อให้ทรัพยากรชายฝั่งมีความอุดมสมบูรณ์แบบยั่งยืน รวมทั้งผ่านการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รู้ถึงคุณค่าทรัพยากร ร่วมกันหวงแหนอนุรักษ์ต่อไป