จนท. ดักซุ่มจับเรือลักลอบทำ "ประมงอวนรุน" กลางดึก ซ้ำ!! ค้นเจอยาบ้า-ยาไอซ์
14 พ.ย. 2562, 14:11
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายเกียรติศักดิ์ เกษมพันธ์กุล ประมงจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายพงษ์ศักดิ์ นิธิกรกุล ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) และ นางช่อทิพย์ จรูญศักดิ์ ประมงอำเภอกันตัง เข้าทำการตรวจสอบผู้ต้องหาที่ลักลอบทำประมงอวนรุนผิดกฎหมาย หลังจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเขต 3 (กระบี่) หรือชุดใบไม้เขียว ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดตรังด้วย จำนวน 10 นาย พร้อมเรือยางตรวจการณ์ภูเก็ต จำนวน 2 ลำ วางแผนออกดักซุ่มจับกุมผู้ลักลอบทำประมงอวนรุนกลางดึก ซึ่งเป็นการทำประมงผิดกฎหมายแบบทำลายล้างทรัพยากร หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ยังคงมีชาวประมงชายฝั่งบางคน โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จะมีการลักลอบทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนในทะเลเป็นประจำเกือบทุกคืน จึงได้วางแผนดักซุ่มรอจับกุม จนสามารถจู่โจมเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาไว้ได้จำนวน 2 คน ที่บริเวณปากร่องน้ำกันตัง บ้านทรายขาว ต.นาเกลือ อ.กันตัง และตรวจยึดของกลางไว้ได้ ประกอบด้วย เรือประมงไม่มีชื่อ ไม่มีทะเบียนเรือ (เรือพรีสหางยาว) จำนวน 2 ลำ ขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส พร้อมเครื่องยนต์, เครื่องมืออวนรุน 2 ชุด และสัตว์น้ำตัวเล็กๆ จำนวนหนึ่ง รวมทั้งยาบ้า และยาไอซ์ อีกจำนวนหนึ่ง
โดยลำแรผู้ต้องหาคือ นายสมจิตร เศษวิชัย อายุ 46 ปี เจ้าของเรือ และ นายจักรฐพร เศษวิชัย อายุ 27 ปี ชาวหมู่ที่ 9 ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นหลานชาย ทั้งนี้ นายสมจิตร ได้พยายามยกมือไหว้เจ้าหน้าที่ เพื่อขอร้องไม่ให้ดำเนินคดี โดยบอกว่าสัญญาว่าจะไม่ทำอีก ส่วนเรืออีกลำมีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน แต่ได้พยายามซิ่งเรือเหนือไปจอดริมป่าโกงกาง จากนั้นได้ทิ้งเรือและกระโดดน้ำหนีเข้าไปป่าโกงกางหายไป โดยทิ้งไว้แต่ของกลาง ทั้งเรือพลีส รวมทั้งอุปกรณ์อวนรุน และยาเสพติด ประกอบด้วย ยาบ้า และยาไอซ์ อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนเรือลำอื่นๆ กำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งมีน้อย ทำให้ผู้ลักลอบทำอวนรุนซิ่งเรือหลบหนีเข้าฝั่งไปได้ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.กันตัง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ในข้อหามีไว้ครอบครอง เพื่อใช้ซึ่งเครื่องมือทำการประมง เครื่องมืออวนรุนที่ใช้ประกอบกับเรือยนต์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 67 (4) มีบทลงโทษตาม พ.ร.ก.การประมงประมง พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 2) และมาตรา 147 และ169 อัตราโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท หรือยึดของกลาง ส่วนเจ้าของเรืออีกลำเจ้าหน้าที่จะได้ติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน นายเกียรติศักดิ์ เกษมพันธ์กุล ประมงจังหวัดตรัง กล่าวว่า ในพื้นที่ยังคงมีคนลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย จึงได้วางแผนจับกุมและกวาดล้าง โดยที่ผ่านมาถูกจับกุมและดำเนินคดีมาแล้วประมาณ 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับพิจารณาให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวน 35,000 บาท แต่หากพบการกระทำซ้ำสอง จะต้องถูกปรับเต็มจำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของพนักงานสอบสวนถ้าพิจารณาให้ประกันตัวจะต้องใช้หลักทรัพย์สูงถึง 80,000-100,000 บาท แต่หากผู้ต้องหาไม่ยอมจ่ายค่าปรับก็จะต้องถูกส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะริบของกลางทั้งหมด ไม่มีลดหย่อนความผิด นอกจากนั้น ในการจับกุมหลายครั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มักพบยาเสพติดด้วย จึงต้องส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอีกส่วนหนึ่ง