กยท.นำโดรนบินพ่นยาฆ่าเชื้อรา ระบาดต้นยางชาวบ้าน หลังพบ 6 จังหวัดใต้ ติดเชื้อแล้ว
15 พ.ย. 2562, 17:05
วันที่ 15 พ.ย. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รอง ผอ.กยท. นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร นายสุรชัย บุญวรรโณ ผอ.กยท.ภาคใต้ตอนล่าง ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผอ.สถาบันวิจัยยาง นายวีระ นุ้ยผอม ผอ.กยท.สาขาสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเดินทางไปสวนยางพาราของนายสุวิทย์ วัลลโก ซึ่งตั้งอยู่ ต.ฆอเลาะ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เพื่อพบปะพูดคุยและทำความเข้าใจกับตัวแทนชาวบ้าน หลังจากที่ตรวจพบว่าต้นยางพาราของชาวบ้านมีการแพร่ระบาดของเชื้อรา Pestalotiopsis sp. อย่างหนักเป็นเวลานาน 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยต้นยางพาราแต่ละต้นจะมีลักษณะคล้ายกับการพลัดใบ แต่ข้อสังเกตคือ ใบของต้นยางพาราที่ร่วงลงมาแต่ละใบที่ติดเชื้อรา จะมีลักษณะเด่นชัดคือ ใบจะมีรูปร่างคล้ายวงกลมสีเหลืองเป็นจุดๆเหมือนรอยไหม้ ซึ่งเชื้อราชนิดนี้จากการตรวจสอบพบว่าน่าจะมีการแพร่ระบาดจากประเทศมาเลเซีย จากกระแสลมที่พัดพานำเชื้อราเข้ามาในพื้นที่ จนล่าสุดพบว่ามีการแพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ 9 อำเภอ อาทิ สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง สุคิริน ระแงะ จะแนะ เจาะไอร้อง และศรีสาคร คิดเป็นเนื้อที่ 284,250 ไร่ โดยอำเภอแว้งมีการแพร่ระบาดหนักสุด 83,000 ไร่
ต่อมาหลังจากคณะได้ทำความเข้าใจกับตัวแทนชาวบ้านแล้วเสร็จ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รอง ผอ.กยท. และคณะ ได้ดูเจ้าหน้าที่นำอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ขนาด 8 ใบพัด ซึ่งมีถังบรรจุสารเคมีขนาด 10 ลิตร ที่ผสมสารกำจัดเชื้อรายี่ห้อโพพิโดนาโซลและไดบีโนโคนาโซล ผสมกับน้ำ บินพ่นยอดยางซึ่ง 1 เที่ยวบินจะครอบคลุมพื้นที่ 2 ไร่ โดยจะมีการบินพ่นยากำจัดเชื้อราเป็นพื้นที่ 300 ไร่ ให้แล้วเสร็จ ใน 1 สัปดาห์ ก่อนที่กลับมาพ่นซ้ำให้ครบ 3 ครั้ง และจะมีทีมประเมินว่าการพ่นยากำจัดเชื้อราในครั้งนี้ได้ผลดีหรือไม่ หรือว่าต้องมีการเปลี่ยนสารกำจัดเชื้อราชนิดอื่นแทนหรือไม่อย่างไร เนื่องจากตัวยากำจัดเชื้อรา 2 ชนิดนี้ ทาง กยท. ได้นำมาใช้หลังจากทางประเทศอินโดนีเซีย ใช้เป็นตัวยา 2 ชนิดนี้ผสมกันกำจัดเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ที่ระบาดในประเทศได้ผลมาแล้ว
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รอง ผอ.กยท. เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อรา Pestalotiopsis sp. ในสวนยางพาราของชาวบ้าน ตนจะนำข้อมูลต่างๆไปนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาในการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลผลิตที่ตกต่ำ ในอัตราส่วนต่อคนต่อรายไม่เกินรายละ 3,000 บาท ซึ่งหากเป็นไปได้ในช่วงติดเชื้อ ขอให้ชาวบ้านงดการกรีดยาง ที่อาจจะกระทบต่อต้นยางพาราในระยะยาว ที่มีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง
นอกจากนี้ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รอง ผอ.กยท. ยังได้เปิดเผยอีกด้วยว่า เชื้อรา Pestalotiopsis sp. ที่ระบาดในสวนยางพาราของชาวบ้าน จากการสำรวจนอกจากระบาดหนักในพื้นที่ จ.นราธิวาสแล้ว เริ่มมีการแพร่ระบาดแล้วในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ยะลา สงขลา ตรัง พัทลุง และพังงา ซึ่งทาง กยท.แต่ละพื้นที่จะมีการสนับสนุนยากำจัดเชื้อราแจกจ่ายให้กับกลุ่มตัวแทนชาวบ้านพร้อมโดรน 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อใช้ฉีดพ่นกำจัดเชื้อราจนกว่าเชื้อราชนิดนี้จะหมดไปในแต่ละพื้นที่