"บอร์ด กยท." ลงเจรจาโต๊ะกลางเวทีชุมนุมชาวสวนยาง รับแก้ทันทีหากอยู่ในหน้าที่รับผิดชอบ
30 ม.ค. 2563, 08:54
วันที่ 29 ม.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณเวทีชุมนุมสาธารณะ สี่แยกควนหนองหงษ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางพันธมิตร รวมตัวชุมนุมเวทีสาธารณะ ติดต่อกันเป็นวันที่ 4 แล้ว ท่ามกลางชาวสวนยางจากหลายพื้นที่กว่า 700 คน โดยมีนายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ในฐานะกลุ่มชาวสวนยางและสถาบันชาวสวนยางพันธมิตร ซึ่งบรรยากาศทั่วไปพบว่า ยังคงมีชาวสวนยางทยอยเข้ามาร่วมชุมนุมอยู่ตลอดทั้งวัน ขณะที่ใจกลางเวทีมีการจัดตั้งโต๊ะกลางเพื่อร่วมเจรจากับนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานบอร์ด กยท. และคณะทีมงานร่วมเจรจา เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ต่อมาเวลา 15.00 น.นายประพันธ์ พร้อมคณะเดินทางถึงเวทีฯ และเข้านั่งโต๊ะเจรจา โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งนี้ก่อนเจรจาเรื่องการแก้ไขปัญหาทั้ง 4 ข้อเรียกร้องนั้น ในครั้งนี้ นายมนัส ลุกขึ้นชี้แจงในที่ประชุมให้ชาวสวนยางรับทราบว่า รักษาการผู้ว่า กยท.และคณะรวม 4 คน มายืนดูข้างเวที แต่ไม่ยอมขึ้นเวที ขณะที่ชาวสวนยางเชิญขึ้นเวทีกลับหนีขึ้นรถตู้ กยท.ออกไปทันที ประจวบกับรถบรรทุกสินล้อของชาวสวนยางวิ่งสวนมาพอดีเกือบชนรถตู้สีขาว
“ อยากให้ ปธ.บอร์ด กยท.ทราบว่าพฤติการณ์ของลูกน้องท่านทำแบบนี้จริงๆ ไม่เข้าใจว่าผู้บริหาร กยท.ไม่มีวุฒิภาวะ ในการทำหน้าที่ แล้วอย่ามามองว่าพวกตนไม่ใช่กล้วยตากแห้งด้วย พวกตนไม่มีAction และไม่ได้ Drama เราเดือดร้อนจริงๆ”
นายมนัส กล่าวอีกว่า ไม่ได้หวังว่าท่านจะแก้ไชปัญหาจากข้อเรียกร้อง แต่เราต้องการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ข้อ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนเสียที และไม่ได้สรุปว่าการเจรจาในครั้งนี้จะจบ อาจจะมีต่ออีกหลายเวที
ด้านนายประพันธ์ กล่าวว่า ตนเดินทางลงมาครั้งนี้ เพื่อรับฟังความเดือดร้อนและข้อเสนอของเกษตรกรสวนยาง ยืนยันรับจะจัดการทุกข้อเสนอที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กยท. ส่วนสิ่งใดที่นอกเหนือจากนี้ จะสรุปและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทันที
“ คณะกรรมการ กยท.เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความแข็งแรงแบบยั่งยืน มีมาตรฐานตามเกณฑ์ตลาดโลก ทั้งผลผลิตและระบบการจัดการสวนยาง ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรรวมตัวกันและจัดการเครือข่ายเกษตรกรให้เข้มแข็ง รวมทั้งการจัดการสวัสดิการของเกษตรกรอย่างทั่วถึงและโปร่งใส การจัดการกองทุนยางพาราตามมาตรา 49 ต้องมีธรรมมาภิบาลและประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมมือทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษาและเอกชนในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราหลากหลายเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม และใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ ยังร่วมกับกลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการติดตามการใช้ยางภาครัฐ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางความรู้ แหล่งอุตสาหกรรมยาง ใช้เทคโนโลยีระดับสูงของโลก ที่เรียกว่า rubber valley และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องการจัดการยางพาราไทย “