อช.เขาแหลม เตรียมเข้าพบ ตร. ให้ปากคำเพิ่มเติมปม "เจ้าสัวพันล้าน" พร้อมพวก รุกที่ในเขตอุทยานฯ ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ
18 ก.พ. 2563, 09:09
ความคืบหน้ากรณีที่ คณะเจ้าหน้าที่นำโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. พร้อมด้วย.นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม พร้อมกำลัง เข้าตรวจยึดพื้นที่ที่ถูกกลุ่มนายทุนบุกรุกปรับพื้นที่เพื่อทำการเกษตร บริเวณริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ท้องที่หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี รวมเนื้อที่ 197-1-75 ไร่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ครอบครอง จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย นายมนตรี มังกรกนก ตำแหน่ง กรรมการบริษัท เอเชียไฟเบอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วงศ์ช่าง จำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1 พันล้านบาท ดร.ปัญจรัตน์ มังกรกนก นางสาวศิริกุล มังกรกนก นางสาวศิริวรรณ มังกรกนก นายภูริพงศ์ มังกรกนก และ นายไพรัชญ์ ปัญจรันต์มนตรี นอกจากคณะเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีกับบุคคลทั้ง 6 แล้ว ยังดำเนินคดีกับบุคคลที่ให้การสนับสนุนอีก 2 ราย คือนายศักดิ์ชัย บัณติอินทร์ และนายวันชัย นวลขำดีแท้ โดยทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 (1) “ฐานยึดถือ ครอบครอง ในที่ดินในอุทยานแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี ปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท และคณะเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (1) กฎหมายอุทยานแห่งชาติ 2562 นั้น
ล่าสุด นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เปิดเผยว่า ทางเราได้นัดพนักงานสอบสวน สภ.สังขละบุรี เข้าไปให้ปากเพิ่มเติมในเช้าวันนี้ 18 ก.พ.63 ส่วนเอกสารหลักฐานที่ทางตำรวจต้องการเพิ่มเติมนั้นขณะนี้ยังไม่ทราบว่าต้องการอะไร ซึ่งคงต้องเข้าไปพบและพูดคุยในรายละเอียดก่อนจึงจะทราบว่าทางตำรวจต้องการหลักฐานอะไรเพิ่มเติม โดยเราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งนี้หลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ชัดว่า นายมนตรี มังกรกนก พร้อมพวกกระทำผิด คือ พบว่ามีการเปลี่ยนชื่อในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์อย่างชัดเจน
สำหรับคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูหรือไม่ เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นถึงระดับเจ้าสัวพันล้าน ที่มีชื่อเสียง ขณะที่ทางผู้บังคับชาก็ได้ให้ความสนใจเช่นกัน พร้อมส่งทีมนักกฎหมายของอุทยานฯ ลงมาดูแลคดีนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้บันทึกรวมทั้งหลักฐานรัดกุมและแน่นหนาเพียงพอที่จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในส่วนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม มีทั้งพื้นที่น้ำ คือ เขื่อนวชิราลงกรณ และภูเขา ซึ่งมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามมาก ปัญหาคือมีชุมชน มีชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ บางส่วนที่อาศัยทำกินอยู่ก็ได้สิทธิ์ของนิคมสหกรณ์ ที่อพยพจากน้ำท่วมเนื่องจากการสร้างเขื่อนขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีการขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางรัฐบาลก็มีมาตรการในการผ่อนผัน เรื่องของมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 66/2557 นโยบายทวงคืนผืนป่า
หลังจากนั้น ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ ซึ่งเราก็พยายามที่จะตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงจุดไหนบ้างที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ และผู้ครอบครองไม่เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการกับบุคคลดังกล่าวไปแล้วหลายรายด้วยกัน ขณะที่ปัจจุบันเราก็พยายามเร่งตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อไป เพราะจะมีเรื่องของการรับรองสิทธิ์ตามมาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับใหม่ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ไม่มีนายทุนหลุดลอดเข้าไป
ซึ่งกรณีนี้มีการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองอย่างชัดเจน แต่บางกรณีก็เป็นนอมินีถือครองอยู่ แต่อย่างไรก็ตามเราก็พยายามตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีนายทุนเล็ดลอดเข้าไป ซึ่งหากไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อชัดเจนก็จะทำให้การตรวจสอบเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับพื้นที่มีจำนวนมาก ซึ่งมีเนื้อที่ที่จะต้องทำการสำรวจ ประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งเราจะทำการตรวจสอบให้ดีที่สุด จึงขอให้มั่นใจว่า ถ้าตนยังอยู่ตรงนี้ ตนจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะไม่ให้นายทุนฉวยโอกาสเข้ามายึดถือครอบครองพื้นที่ได้อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามคดีนี้ตนมั่นใจว่าจากพยานหลักฐานที่เรามีจะสามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้อย่างแน่นอน