ดังระดับโลก "ธนาคารน้ำใต้ดินเชียงเครือโมเดล" นายกเทศมนตรีฯ ได้รับเชิญร่วมในเวทีการประชุมนานาชาติ การจัดการน้ำและขยะ ครั้งที่ 2
19 ก.พ. 2563, 16:22
ชัย สุริรมย์ นายกเทศบาลตำบล เชียงเครือดังระดับโลก ได้รับเชิญไปเรื่องการจัดการธนาคารน้ำใต้ดิน ในเวทีการประชุมนานาชาติ การจัดการน้ำและขยะ ครั้งที่ 2 ที่ประเทศอินเดีย ในฐานะชุมชนผู้มีผลงานเพื่อการจัดการน้ำที่โดดเด่นระดับโลก
วันที่ 19 ก.พ 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่เมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย ในเวทีการประชุมนานาชาติ การจัดการน้ำและขยะ ครั้งที่ 2 WWM Conference 2020 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่าง วันที่ 17- 19 กุมภาพันธ์ 2563 นายชัย สุริรมย์ นายกเทศมนตรีตำบลเชียงเครือ อ. เมือง จ.สกลนคร ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม เรื่องการจัดการธนาคารน้ำใต้ดิน ในฐานะชุมชนผู้มีผลงานเพื่อการจัดการน้ำที่โดดเด่นระดับโลก โดยการประชุมนานาชาติ การจัดการน้ำและขยะ ครั้งที่ 2 หรือ WWM Conference 2020 มีผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาการจัดการน้ำและขยะ เข้าประชุมกว่า 100 ประเทศจากทั่วโลก โดยมีสถาบันและองค์กรชั้นนำ เข้าร่วมประชุม ประกอบไปด้วย ศูนย์พันธมิตรของเสียระหว่างประเทศมหาวิทยาลัย, โรตารีสากล, มูลนิธิอนุรักษ์ L, สถาบันน้ำ ,สถาบันวิจัยน้ำ , สถาบันการแพทย์ Loyola , สมาคมเตลูก สหรัฐอเมริกา , สมาคมแพทย์อเมริกันและ มูลนิธิแห่งโลกแม่น้ำ, ศูนย์ทรัพยากรพลังงาน ISG, Senryo, สมาคมคุณภาพน้ำ, หอการค้าสหรัฐอินเดีย, อินเดีย Kale Tech ซึ่งกรอบการประชุมประกอบด้วย สาระสำคัญ คือ น้ำและน้ำเสีย , ความเป็นผู้นำของผู้หญิง, การสุขาภิบาลน้ำและสุขอนามัย,น้ำในการสุขาภิบาลและการเกษตรในชนบท,ขยะชุมชน, การกู้คืนทรัพยากร – พลังงาน จึงถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ธนาคารน้ำใต้ดินของเทศบาลตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย เป็นโมเดลและมีผลงานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
นายชัย สุริรมย์ กล่าวว่า ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นการนำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ ในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำ เพื่อนำไปกักเก็บไว้ที่ชั้นหินอุ้มน้ำ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้ ธนาคารน้ำใต้ดินมี 2 ประเภท คือ 1.ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพ และชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จากนั้นใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น หิน อิฐ หรือ นำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ นำวัสดุชนิดเดียวกับที่ใส่ช่องว่างด้านนอก มาเติมใส่ช่องว่างด้านในให้เต็ม คลุมด้วยผ้าไนล่อน แล้วทับด้วยก้อนหิน และตามด้วยหินละเอียดเพื่อเป็นตัวกรองให้ไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ เมื่อฝนตกลงมาน้ำจะไหลสู่ชั้นใต้ดิน ผ่านธนาคารน้ำใต้ดิน 2) ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ใช้หลักการขุดบ่อเพื่อส่งน้ำไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ โดยเจาะพื้นบ่อเป็นหลุม 3 หลุมให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้น้ำไหลลงชั้นหินอุ้มน้ำได้ดี และมีช่องสำหรับถ่ายเทอากาศจากโพรงใต้ดินเมื่อถูกน้ำเข้าไปแทนที่ โดยน้ำที่นำมาเก็บนั้นมาจากหลายแหล่งด้วยกัน เช่น น้ำฝน หรือน้ำจากการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ซึ่งเมื่อน้ำถูกเติมลงชั้นใต้หินอุ้มน้ำปริมาณมากพอ น้ำจะเอ่อล้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำ หรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำไกลๆ ประหยัดพลังงาน แถมช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ การทำธนาคารน้ำใต้ดินที่ได้ผลดี ควรทำทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป