เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ชาวบ้านฝากทุกฝ่ายดูแล "เจ้ามาเรียม" อย่าให้เกิดเหตุเหมือน "เจ้าโทน" (ชมภาพ)


26 มิ.ย. 2562, 16:32



ชาวบ้านฝากทุกฝ่ายดูแล "เจ้ามาเรียม" อย่าให้เกิดเหตุเหมือน "เจ้าโทน" (ชมภาพ)




                ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า นายยาเหตุ หะหวา อายุ 62 ปี ชาวบ้านบ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง นำกระดูกส่วนสันหลังของ "เจ้าโทน" พะยูนน้อยแสนรู้ตัวแรกแห่งท้องทะเลตรัง เมื่อปี 2535-2536 ที่ยังหลงเหลืออยู่  โดยไปเก็บกลับมาจากโรงเรียนบ้านหาดยาว ตำบลเกาะลิบง หลังนำไปจัดแสดงไว้ให้เด็กๆ ได้ดูทั้งตัว  แต่ต่อมากลับสูญหายเกือบหมดจนเหลือเฉพาะกระดูกส่วนสันหลัง จึงเก็บกลับมาไว้เป็นหลักฐาน และเป็นที่ระลึกถึงเจ้าโทน

                 โดย นายยาเหตุ เล่าว่า เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2535 ช่วงขณะน้ำลง ขณะที่ลูกชายกับเพื่อนเดินหาหอยชักตีนอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลหน้าหมู่บ้าน  ปรากฎว่า ไปพบเจอพะยูนน้อยตัวหนึ่ง อายุไม่ถึง 2 ปี เกยตื้นอยู่ จึงช่วยเหลือพากันนำกลับลงน้ำ  หลังจากนั้นเมื่อตนเองและชาวบ้านลงไปเล่นน้ำทะเลบริเวณดังกล่าว  เจ้าโทน แรกเริ่มยังไม่คุ้นคนก็จะว่ายน้ำหนี แต่เมื่อพบเจอคนทุกวันๆ และเริ่มคุ้นเคย ก็ว่ายน้ำเข้ามาหา ยอมเล่นด้วย จนกระทั่งให้ยอมให้อุ้ม ให้กอด  จึงช่วยกันตั้งชื่อว่า เจ้าโทน เพราะอาศัยอยู่เพียงลำพังตัวเดียว

                 หลังๆ มาเมื่อตนเองหรือชาวบ้านที่คุ้นเคยบางคนเรียกชื่อหา เจ้าโทนๆๆ  เจ้าโทน ซึ่งกินหญ้าอยู่บริเวณใกล้ๆ ก็จะยกหางตีน้ำตอบกลับมาว่าอยู่ตรงไหน แล้วว่ายน้ำมาหา หรือบางคนใช้มือตบผิวน้ำเบาๆ เจ้าโทน ก็จะว่ายน้ำมาหา  โดยชาวบ้านได้เลี้ยงเจ้าโทน อยู่ได้เกือบ 1 ปี มันก็ตายลง เพราะถูกเครื่องมือประมง  ขณะที่มีน้ำหนักหนักประมาณ 47 กิโลกรัม และยาวประมาณ 147 เซนติเมตร

                 สำหรับความแตกต่างระหว่างเจ้าโทน กับเจ้ามาเรียม พะยูนน้อยแสนรู้ตัวล่าสุดของจังหวัดตรัง ก็คือ  เจ้าโทน เป็นพะยูนเพศผู้ และมีอายุมากกว่าเจ้ามาเรียม  อีกทั้งขณะนั้น เจ้าโทน ได้หย่านมแม่แล้ว และกินหญ้าทะเลเองในธรรมชาติเป็นแล้ว  ขณะที่เจ้ามาเรียม ยังเล็ก ต้องอาศัยคนป้อนนม และกำลังฝึกหัดกินหญ้า  แม้ตนเองจะดีใจมากที่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านร่วมกันดูแลเจ้ามาเรียม อย่างดีเหมือนลูก  แต่ที่เป็นห่วงคือ เราจะปล่อยให้เจ้ามาเรียม ออกไปหากินข้างนอกไม่ได้ เพราะเชื่อว่ามันจะคุ้นคน และจะต้องเข้าหาคน เข้าหาเรือ  หากปล่อยให้เจ้ามาเรียม ออกไปไกลในธรรมชาติ มันจะต้องตาย เพราะติดเครื่องมือประมงแน่นอน

                 "จึงอยากให้ควบคุมพื้นที่ไม่ให้เจ้ามาเรียม ออกไปไกล และอย่าให้เรือใดๆ เข้าไปในบริเวณพื้นที่ที่เจ้ามาเรียม อาศัยอยู่  เพราะลักษณะนิสัยของพะยูน หากอยู่บริเวณไหนจะอยู่บริเวณนั้น นอกจากช่วงฤดูผสมพันธุ์ที่จะออกไปไกล  ส่วนเรื่องการเกยตื้นถ้าเจ้าหน้าที่จัดเวรยามลาดตระเวนและตามหาเจ้ามาเรียม เจอทุกครั้ง มันก็จะไม่ตาย  แต่หากหาตัวไม่พบและเกยตื้นเป็นเวลานานจนผิวแห้ง เจ้ามาเรียม ก็อาจจะตายได้   เช่นเดียวกับชาวบ้านบ้านเจ้าไหม คนอื่นๆ ที่เคยคลุกคลีกับ เจ้าโทน ต่างก็รู้สึกกังวลห่วงเจ้ามาเรียม  เพราะจะไม่ปลอดภัยจากเรือ หากมันต้องออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติ" นายยาเหตุ กล่าว

 



                 ด้าน นางเพลินใจ ชาญเสนาะ   อายุ 71 ปี ตัวแทนสมาคมหยาดฝน ซึ่งเคยเป็นองค์กรที่เดินหน้าทำกิจกรรมอนุรักษ์หญ้าทะเลอย่างจริงจัง และต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง  ได้นำภาพเด็กๆ ที่ถ่ายกับเจ้าโทน ที่บ้านเจ้าไหม ตำบลเกาะลิบง มาเปิดให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมกับเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า  เมื่อประมาณปี 2534 สมาคมหยาดฝน ได้เดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันปลูกและอนุรักษ์หญ้าทะเลอย่างจริงจัง แต่ชาวบ้านยังไม่ค่อยเข้าใจหรือให้ความสำคัญมากนัก

 

               


  จนปลายปี 2535 เมื่อเจ้าโทน ซึ่งเข้ามากินหญ้าริมชายฝั่งมาเกยตื้น  ทำให้ชาวบ้านได้คลุกคลีและรู้จักพะยูน ทุกคนจึงรู้สึกรักเจ้าโทน มาก  จนเมื่อเจ้าโทน มาตายเพราะติดอวน ชาวบ้านต่างร้องไห้เสียใจกันทั้งหมู่บ้าน  นับจากนั้นมาการอนุรักษ์หญ้าทะเล และการจัดการทรัพยากรชายฝั่งก็เข้มแข็งขึ้นทันที  เพราะประชาชนเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้น มีสื่อและรายการทีวีมาถ่ายทำไปออกข่าว จึงทำให้คนรู้จักและรักพะยูนไปทั่วประเทศ  พร้อมอยากบอกให้ทุกฝ่ายร่วมกันรักษาธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลอื่น ที่เป็นต้นเหตุให้หญ้าทะเลตาย  เพราะหากหญ้าทะเลตาย รากจะเน่า โอกาสฟื้นตัวยากมาก และจะส่งผลเสียต่อพะยูนในอนาคต

 

 

 

 

 

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.