"กลุ่มชนเผ่ามันนิ" ออกจากป่ามาอยู่เมืองมากขึ้น
27 มิ.ย. 2562, 15:40
ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า ตัวแทนผู้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ภูมินิเวศเทือกเขาบรรทัด 4 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา นำโดย นายอานนท์ ศรีเพ็ญ พร้อมด้วยตัวแทนชนเผ่ามันนิ ประกอบด้วย นายธวัชชัย ปักษี นายศักดา ปักษี นายโจ ศรีปะเหลียน นายวุฒิ ศรีปะเหลียน และนายบ่าว ศรีปะเหลียน ตลอดจนผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์มันนิที่อาศัยอยู่ในบริเวณเทือกเขาบรรทัด โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ด้านกฎหมาย หลังจากที่กลุ่มชนเผ่ามันนิมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่เข้ามาอาศัยในชุมชนเมืองกันมากขึ้น อีกทั้งคนเมืองยังได้เข้าไปรุกล้ำป่า ทำให้กลุ่มมันนิประสบปัญหาการใช้ชีวิตในป่า ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
นายอานนท์ ศรีเพ็ญ ผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มชาติพันธุ์ภูมินิเวศเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ซาไก (มันนิ) บนเทือกเขาบรรทัด 12 กลุ่ม ประกอบด้วย ตรัง 3 กลุ่ม สตูล 5 กลุ่ม สงขลา 1 กลุ่ม และพัทลุง 3 กลุ่ม จึงได้เสนองบประมาณไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อนำมาพัฒนาสุขภาวะสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชนเผ่ามานิ รวมทั้งเรื่องอาชีพ และอาหารว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกันไป และอยู่ในจังหวะที่มีการเปลี่ยนผ่านของการเป็นพลเมืองไทย ถึงแม้ปัจจุบันมันนิจะมีบัตรประจำตัวประชาชน และมีบัตรสวัสดิการต่างๆ แต่ปัญหาคือ พวกเขายังใช้สิทธิดังกล่าวไม่ได้ จึงต้องอาศัยพึ่งพาชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ ในพื้นที่ในการที่จะไปใช้สิทธิเหล่านี้ อาทิ การรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ
นอกจากนั้น จากทรัพยากรในพื้นที่ป่ากว้างที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งชนเผ่ามันนิสามารถพึ่งพาอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหาร แต่ปัจจุบันทรัพยากรเหล่านี้เริ่มสูญหายไม่พอที่จะหาเลี้ยงชีพ มันนิจึงต้องออกมาสู่ชุมชนภายนอก บางกลุ่มมีการพัฒนาด้วยการปลูกผัก และรับจ้างทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ ขณะเดียวกัน กลุ่มมันนิในจังหวัดตรังและสตูล ยังถูกดึงเข้าไปหาผลประโยชน์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น บอกว่ามาเที่ยวมาชมวีถีชีวิตมันนิ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เรื่องขยะจากการนำเข้าไปบริจาค ทั้งขนมนมเนย ที่ได้มีการหิ้วเข้าไป จนส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเขตป่าต้นน้ำที่พวกเขาอาศัยอยู่
ดังนั้น ในช่วงสภาวะของการเปลี่ยนผ่าน กลุ่มมันนิจึงอยากขอความช่วยเหลือ เพื่อประคับประคองให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้อย่างมีความสุข แต่ในความจริงพวกเขากลับพบปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ปัญหาด้านสังคม โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด เหล้า บุหรี่ ที่เริ่มเข้ามาคุกคามวิถีมันนิ ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องเข้าไปให้คำแนะนำว่า เป็นสิ่งผิดกฎหมายและอันตราย รวมทั้งให้ความรู้เรื่องข้อกฎหมายเบื้องต้น เช่น การรับจ้างขนไม้เถื่อน ไม้ป่า สมุนไพร ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ไม่งั้นมันนิจะไม่สามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข
ขณะที่ นายธวัชชัย ปักษี อายุ 22 ปี ตัวแทนกลุ่มมันนิ กล่าวว่า วันนี้มันนิมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ในเรื่องของการเจ็บไข้ไม่สบาย รวมทั้งอาหารที่เก็บเกี่ยวในป่าก็มีไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาจากป่ารับจ้างกรีดยาง หรือปลูกผัก ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม