รองนายก อบจ.สกลนคร ชี้ทะเลสาบหนองหาร ควรได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
16 มี.ค. 2563, 15:19
วันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายกฤชณพล วิริยะบุญญา รองนายก อบจ.สกลนคร ออกไปตรวจสอบความตื้นเขินของทะเลสาบหนองหาร แหล่งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากบึงบอระเพ็ด มีพื้นที่กว่า 70,000 ไร่ หรือ 123 ตร.กม. มีเกาะแก่งใหญ่น้อยมากกว่า 30 เกาะ และที่โดดเด่นคือเกาะดอนสวรรค์ ความลึกของหนองหาร อยู่ที่ 2-10 เมตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด นกน้ำ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของประเทศ จากการคาดการณ์ของนักวิชาการระบุว่า หนองหารเกิดจากการยุบตัวของแผ่นเปลือกโลก อันเนื่องมาจากการถูกชะล้างของชั้นหินเกลือใต้ดิน จนเกิดโพรงขนาดใหญ่และเกิดการยุบตัวจนเป็นหนองน้ำ หนองหารมีความกว้าง ประมาณ 7 กม. ยาว 18 กม. ครอบคลุมเขตการปกครองของเทศบาลนครสกลนคร กับอีก 10 ตำบลของ อ.เมือง และ อ.โพนนาแก้ว ปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดี และทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก กระจายกันอยู่รอบๆ ทะเลสาบหนองหาร
นายกฤชณพล วิริยะบุญญา รองนายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า ปัญหาของหนองหาร ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและพัฒนาก็คือ ข้อจำกัดของกฎหมาย เนื่องจากมีหลายหน่วยงานดูแลอยู่ คือกรมประมง กรมชลประทาน จึงทำให้การแก้ปัญหาติดขัด แม้ว่า ผวจ.หลายท่าน จะลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังแต่ก็ไม่สำเร็จสักครั้ง ซึ่งที่จริงแล้วตนเห็นว่าหลายฝ่ายควรจะบูรณาการร่วมกันเพื่อหาทางออก แล้วนำไปเสนอเพื่อแก้กฎหมายซึ่งมีพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2484 และ นสล.ที่ล้าสมัยออกไปให้มีการพัฒนาได้ เพราะตอนนี้เป็นเวลา 27 ปีแล้ว ที่น้ำในหนองหารเต็มไปด้วยสารพิษสะสม ดินตะกอนที่ไหลลงมาจากแม่น้ำสาขา 21 สาย ในแต่ละปีเป็นแสนตัน และส่วนหนึ่งตกตะกอนในหนองหารเฉลี่ยปีละ 35,000 ตัน เมื่อคูณเวลา 27 ปี หนองหารจะมีดินตะกอนกว่าหนึ่งล้านสองแสนตัน จึงทำให้เกิดการตื้นเขินและน้ำไม่สะอาด การแก้กฎหมายเพื่อให้หนองหารเกิดการพัฒนาตนว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่มาช่วยกันพังทลายข้อจำกัดให้หมดไป ซึ่งการพัฒนาอาจจะไม่ต้องได้ใช้งบประมาณเลยก็ได้
รองนายก อบจ.สกลนคร กล่าวต่อว่า นั่งเรืออกมาจากริมฝั่งระยะทางกว่า 2 กม. เมื่อใช้ไม้หยั่งดูแทบไม่น่าเชื่อว่าความลึกของหนองหารเพียงแค่ 60 ซม. จะเห็นได้อย่างชัดเจนของตะกอนดินและวัชพืชทับถมทำให้เกิดการตื้นเขิน วัชพืช เช่น สาหร่ายหางกระรอก ต้นธูปฤาษี ผักตบชวา ก็ดูจะเป็นปัญหาของหนองหาร เมื่อสาหร่ายที่มีอยู่ทั่วบริเวณตายลงก็จะเกิดการเน่าเหม็น ควรมีการขุดลอกเพื่อเพิ่มพื้นที่น้ำ โดยอาจจะเปิดลงทะเบียนหาผู้รับเหมาเอาเงินเข้าภาคหลวงไม่ต้องใช้งบประมาณเลยก็เป็นได้ นอกจากนี้ควรมีการพร่องน้ำออกเพื่อตากหนองหาร รองรับน้ำที่จะเข้ามาใหม่ เราก็จะได้หนองหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หากไม่รีบทำวันนี้ไม่ทราบว่าเมื่อไรจะได้เห็นหนองหารสวยงดงาม ชาวสกลนครก็จะได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว กีฬาทางน้ำ ด้านการประมง การเกษตร มีน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น จากการจำหน่ายสินค้ารอบหนองหาร ที่มีจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ข้อจำกัดที่สำคัญคือข้อกฎหมายที่เป็นกลไกสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง