ยืนยันแล้ว ! "วิสัญญีแพทย์" 1 ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้ติดจากคนไข้ตามข่าว
25 มี.ค. 2563, 15:53
วันที่ 25 มี.ค. 63 เวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายแพทย์วิทิต สฤษฏีชัยกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ และนายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้ร่วมกันแถลงึถงสถานการณ์การชิดเชื้อโควิด 19 ของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้ยืนยันมาแล้วว่า 1 ใน 5 รายของผู้ติดเชื้อในจังหวัดเป็นวิสัญญีแพทย์โรงพยาบาลบุรีรัมย์รวมอยู่ด้วย
ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จากกรณีมีข่าวแพร่ออกไปว่า มีวิสัญญีแพทย์ในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ได้ติดเชื้อโควิด 19 จากคนไข้ที่มารักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดคนไข้หนักได้ เนื่องจากบุคลากรอีกกว่า 10 คนต้องกักตัว 14 วัน ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมดตามที่เป็นข่าว
ที่จริงแล้วจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งหมด 5 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย อาการสาหัส 1 ราย ผู้ติดเชื้ออีก 3 รายเป็นหญิงไทย อายุ 33 สองรายและอายุ 34 หนึ่งรายในจำนวนนี้มีวิสัญญีแพทย์โรงพยาบาล 1 รายจริง แต่ไม่ได้ติดเชื้อจากผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล ตามที่เป็นข่าว
ทั้งนี้จังหวัดบุรีรัมย์ ก็ยังเข้มข้นในการคัดกรองคนที่เดินทางเข้าจังหวัดบุรีรัมย์อย่างเข้มข้น ผู้ที่เดินทางมาจากทุกจังหวัดของประเทศทุกคน จะต้องเข้าสู่กระบวนการกักตัวที่บ้าน 14 วัน และไม่อยากให้ประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ตื่นตระจนเกินกว่าเหตุแต่อยากให้ร่วมมือกัน สามัคคีกัน ป้องกันการแพร่ระบาดทุกช่องทาง จึงจะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้
ด้านนายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ กล่าวว่า วิสัญญีแพทย์ที่ติดเชื้อ ทางโรงพยาบาลได้ตรวจพบเมื่อวันที่ 23 มี.ค.หลังได้รับการวินิจฉัยเป็นปอดอักเสบ และ ตรวจ “PCR for Covid19 positive” ซึ่งจากการสอบสวนโรคพบว่าช่วง 14 วันก่อนป่วย วิสัญญีแพทย์รายนี้ ได้เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยัง ภาคใต้ กรุงเทพ และ จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ 16-18 มีนาคม ได้มาปฏิบัติงานดมยาให้ผู้ป่วยที่มาผ่าตัดตามปกติ โดยไม่มีผู้ป่วยรายใดมีผล Covid19 positive หรืออยู่ในข่ายต้องสงสัยป่วยโรคโควิด
วันที่ 19 มีนาคม มีน้ำมูก เสียงแหบ เจ็บคอเล็กน้อย ไข้ต่ำๆ ไอมากขึ้น น้ำมูกเล็กน้อย ได้ไปพบแพทย์ที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินรพ.บุรีรัมย์ แพทย์ สั่งป้ายคอตรวจไข้หวัด ผลเป็นลบ และตรวจเอกซ์เรย์ปอด ไม่พบความผิดปกติ จึงกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน
วันที่ 20 มีนาคม มีอาการไอและน้ำมูกเพิ่มมากขึ้น ไข้ต่ำๆอาการทรงๆ นอนพักที่บ้าน
วันที่ 21 มีนาคม นอนพักและทานยาที่บ้าน มีน้ำมูกและไอมากขึ้น จึงปรึกษาอายุรแพทย์โรคติดเชื้อ ให้การวินิจฉัยเป็นปอดอักเสบ ให้ทำการป้ายคอ ตรวจ Covid19 ถูกกักบริเวณห้องแยก
วันที่ 22 มีนาคม นอนพักและทานยารอผล Covid 19 ยังมีไอ และน้ำมูก
วันที่ 23 มีนาคม “ผลตรวจ Covid 19 Positive “ (ผลติดเชื้อ)แพทย์ รับเข้ารักษาที่ห้อง EIU ได้รับยาต้านไวรัส (Favipiravir)
วันที่ 24 มีนาคม อาการดีขึ้น ไอ น้อยลง คัดจมูกเล็กน้อย เจ็บคอ ไม่มีไข้ ย้ายออกจาก EIU ฟักฟื้นที่โรงพยาบาลสนาม (BRIC BOX)(สนามแข่งรถช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต) ซึ่งตอนนี้อาการดีขึ้นเกือบเป็นปกติแล้ว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุรีรัมย์ กล่าวด้วยว่า ผลต่อการให้บริการผู้ป่วย มีแพทย์ พยาบาล บุคลากรอื่น ที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ต้องกักตัว เพื่อสังเกตอาการประมาณ 30-40 คน
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าต้องปิดห้องผ่าตัดโรงพยาบาลนั้น ไม่เป็นความจริง โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ยังคงมีวิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาลและบุคลากรอื่นๆ เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและจำเป็นอื่นๆ ของโรงพยาบาล เนื่องจากห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลมีถึง 16 ห้อง ซึ่งวิสัญญีแพทย์ที่ติดเชื้อทำงานอยู่ชั้น 3 ชั้นเดียว ไม่เกี่ยวกับชั้นอื่น ผู้ป่วยหนักที่ต้องได้รับการผ่าตัดสามารถรักษาได้ตามปกติ
มาตรการของโรงพยาบาล ได้ปฎิบัติตามมาตรฐานการดูแลของสาธารณสุข และประกาศโรงพยาบาลบุรีรัมย์ เรื่องแนวทางการปฏิบัติงานของบุคลากร เพื่อป้องกันการระบาดของ Covid 19