มูลนิธิสืบฯ เผย "เจ้าสัวเปรมชัย" พร้อมพวก ยื่นฎีกา "คดีเสือดำ" ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่ศาลทองผาภูมิแล้ว
16 เม.ย. 2563, 13:12
วันที่ 16 เม.ย. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า น.ส.อรยุพา สังขะมาน หน.ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เขียนบรรยายความคืบหน้าคดีเสือดำ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรีที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศมาแล้ว โดย น.ส.อรยุพา ได้โพสต์ลงในเพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า
หลังจากเมื่อวันที่ 11 มี.ค.63 นายเปรมชัย พร้อมพวก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิ เพื่อขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เป็นครั้งที่ 3 และ ศาลพิจารณาให้ขยายได้ถึงวันที่ 10 เม.ย.นี้
ต่อมาวันที่ 12 มี.ค.63 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของอัยการ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้รายงานถึงความคืบหน้าการพิจารณาฎีกาคดีร่วมกันล่าเสือดำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเปรมชัย กรรณสูต และพวกรวม 4 คน ว่า พนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ โจทก์ ได้เดินทางไปยืนยันต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิว่าทางอัยการโจทก์ไม่ฎีกา
โดยจากการตรวจสอบกับอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 ได้ทำการพิจารณาประเด็นและเหตุผล รวมทั้งบทลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้ว เห็นว่าครบถ้วนตามที่อัยการได้ฟ้องไป จึงมีความเห็นไม่ยื่นฎีกาอีก ซึ่งตามขั้นตอนก็ได้ส่งความเห็นนี้ไปยังผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผบช.ภ.7) เพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1 เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย ผบช.ภ.7 ได้ส่งความเห็นกลับมาแล้วว่า เห็นตรงตามอัยการ ดังนั้นความเห็นจึงเป็นที่ยุติแล้วว่าไม่ฎีกาเกี่ยวกับผลคดีดังกล่าวอีกต่อไป
เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นฎีกาของจำเลย อัยการโจทก์จะพิจารณาแก้ประเด็นฎีกาซึ่งเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนต่อไป
1 เม.ย. 63 นายเปรมชัย จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยผู้พิพากษาได้รับรองอนุญาตให้จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้*
ส่วนแม่ครัว จำเลยที่ 3 คดียุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เนื่องจากอัยการโจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจยื่นฎีกา
วันนี้ (16 เม.ย. 63) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สอบถามความคืบหน้าการยื่นฎีกาของนายเปรมชัยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ยังศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้ความว่านายเปรมชัยและพวก ได้ทำการยื่นฎีกาเพื่อต่อสู้คดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่หากผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด(ฎีกา) และอนุญาตให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้วสามารถให้รับฎีกาไว้พิจารณาต่อไปได้