ศบค.แจงปรับ "เปิด-ปิด" ภาคเรียนปี 63 พร้อมแนวทางรับมือเรียนออนไลน์
9 พ.ค. 2563, 13:14
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า ศธ.ได้ปรับเปลี่ยนเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2563 โดยภาคเรียนที่ 1/2563 เปิดวันที่ 1 กรกฎาคม – 13 พฤศจิกายน 2563 ส่วนภาคเรียนที่ 2/2563 เปิดวันที่ 1 ธันวาคม – 9 เมษายน 2564 โดย รองปลัด ศธ.จะแถลงรายละเอียดถึงเรื่องดังกล่าวต่อไป
ด้านนางลักขณา ตัณฑวุฑโฒ รองปลัดศธ. กล่าวว่า ตามที่ศธ.ได้เลื่อนเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ศธ.มีความเข้าใจถึงความกังวลของผู้ปกครอง เกี่ยวกับผลกระทบกับการเรียนการสอน โดยได้จัดทำแนวทางในการจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้นทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) รวมถึงเตรียมทักษะที่สำคัญให้กับผู้เรียน ทั้งภาษอังกฤษ ดิจิทัลและโคดดิ้ง ซึ่งจำเป็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มีนโยบาย ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษา ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นวันที่ 1 กรกฎาคมเปิดเทอมแน่นอน ส่วนจะเรียนผ่านออนไลน์ ที่บ้านหรือที่โรงเรียน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยจะปรับใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่องศึกษาทางไกล 17 ช่อง ทั้งนีการตัดสินใจจัดการเรียนการสอนต่างๆ จะอยู่บนพื้นฐานการสำรวจความต้องการของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ปรับตารางเรียนตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการให้ความรู้ตามช่วงวัย บุคลาลากรทางได้ศึกษา ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นางลักขณา กล่าวต่อว่า การเลื่อนเปิดเทอมส่วนหนึ่งเป็นการตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกส่วนหนึ่งเป็นการยกระดับการศึกษาไทย โดยออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกันพื้นที่ทั้งออนไซต์ ออนแอร์และออนไลน์ แต่หากสถานการณ์ปลอดภัยก็ไปเรียนที่โรงเรียนตาม ขณะเดียวกันศธ. ยังกระจายอำนาจให้สำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) สถานศึกษา ต้องมาพูดคุยกัน เพื่อจัดการศึกษาให้เหมาะกับบริบท ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาพัก แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 เทอม แต่ละเทอมมีเวลาพักในเทอมที่่ 1/2563 จำนวน 17 วัน และในภาคเรียนที่ 2/2563 จำนวน 37 วัน รวมทั้งสิ้น 54 วัน
ทั้งนี้ศธ.จะเริ่มทดสอบระบบการเรียนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม รูปแบบการเรียนการสอน ครู โรงเรียนผู้ปกครองต้องมาช่วยกันออกแบบให้เหมาะสม การเตรียมความพร้อมของสพฐ. แบ่งเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม เริ่มตั้งแต่7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563 ได้สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน รวมถึงขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลจากกสทช. เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทาง ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอน เป็นต้น
ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล เริ่ม18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายนจะทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล DLTV ในระดับปฐมวัยเน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ
ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564 ได้วางแผนไว้สำหรับ 2 สถานการณ์ นั่นคือ สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ และสถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
และ ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ วันที่ 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564 จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ นั่นคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
สำหรับปฏิทินการรับนักเรียนการรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 การสอบ/คัดเลือก ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวันที่ 6 มิถุนายน 2563 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2563 และจับฉลาก (ถ้ามี) ในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 การประกาศผลสอบ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2563 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 11 มิถุนายน 2563
การจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัว/มอบตัว ของนักเรียนทุกคน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2563 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในวันที่ 14-15 มิถุนายน 2563 เพราะฉะนั้นวันที่ 16 มิถุนายน เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน
ขณะที่สอศ. ได้เตรียมการสำหรับผู้เรียนทุกระดับ 4 รูปแบบ 1. ผ่านเอกสารตำราเรียน ผ่านช่องทางออนไลน์ ตามความเหมาะสมของสถานศึกษา 2. จัดทางไกลผ่านDLTV 3. ผ่านออนไลน์ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ และรูปแบบที่ 4.จัดการเรียนผ่านการสอนสด ไลฟ์สด ส่วนภาคปฏิบัติก็ต้องจัดระเบียบ หมุนรอบเรียน
สังกัดสช. มี 3 รูปแบบ สถานที่ปลอดภัยให้มาเรียนปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขออย่างใกล้ชิดกรณีพื้นที่ยังไม่ปลอดภัยให้เรียนผ่อนออนไลน์ และDLTV กศน. มอบให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาผลิตรายงานที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายให้ประชาชนได้เข้าถึง ดังนั้นสรุปคือ วันที่ 1 กรกฎาคม เปิดเทอมแน่นอน พื้นที่ปลอดภัยให้มาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ พื้นที่เสี่ยงเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ สำหรับผู้ปกครองที่กังวล ศธ. มีการติดตามความคืบหน้าและจะเริ่มทดลองวันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน หากผู้ปกครองมีปัญหาขอให้สะท้อน ศธ. ยินดีปรับปรุงแก้ไข ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ควรทำให้เด็กมีความรู้ความสามาเท่านั้น แต่ความส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต