น้อมรำลึกครบรอบ 5 ปี มรณกาล หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
16 พ.ค. 2563, 15:46
วันเสาร์ที่ 16 พ.ค.2563 เป็นวันที่คนไทยร่วมน้อมรำลึกครบรอบ 5 ปี มรณกาล “พระเทพวิทยาคม” หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา อดีตพระเกจิชื่อดังที่ชาวไทยให้ความเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดรูปหนึ่งในปัจจุบัน
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สนใจแก่คณะศิษยานุศิษย์ผู้พบเห็น คือ การนั่งยอง พูดกูมึง ดำรงตนแบบสันโดษ จนกลายเป็นภาพที่เห็นกันชินตา
ด้านวัตถุมงคลมีมากมายหลายประเภท ซึ่งล้วนได้รับความนิยมและแสวงหาทั้งสิ้น
ด.ช.คูณ เกิด เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ต.ค.2466 ที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา บิดา-มารดา ชื่อ นายบุญ และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน ครอบครัวประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนา
ในวัยเยาว์ ต้องสูญเสียบิดามารดา ในขณะที่ลูกทั้ง 3 คนยังเป็นเด็ก ท่านกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว
เมื่ออายุ 6-7 ขวบ ด.ช.คูณ เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หล ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้ พระอาจารย์ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิทยาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ
กระทั่งอายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พ.ค.2487 ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ
ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
หลวงพ่อแดงเป็นพระนักปฏิบัติทางด้าน คันถธุระและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด อีกทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้เป็นสหธรรมิกกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิทยาคมเสมอ
เวลาล่วงเลยผ่านไป กระทั่งหลวงพ่อคง เห็นว่าลูกศิษย์มีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป
ครั้งแรกท่องธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจาริกออกไปไกลถึงประเทศลาว และประเทศเขมร หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่กาลแล้ว จึงออกเดินทางจากประเทศเขมรเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิด
จากนั้นเริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดบ้านไร่ เริ่มสร้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย
กล่าวได้ว่าเป็นพระนักพัฒนา ที่มีผู้ให้ความ ศรัทธายิ่ง บริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและล่วงเลยไกลไปถึงในต่างแดนเลยทีเดียว
ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 12 ส.ค.2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิทยาคมเถร
10 มิ.ย.2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม
12 ส.ค.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม
ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้ท่านอ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งล้มป่วยอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง
คณะแพทย์ขอให้พักรักษาตัวที่ โรงพยาบาลมหาราชและได้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
กระทั่งเวลา 11.45 น. วันเสาร์ที่ 16 พ.ค.2558 ที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา มรณภาพอย่างสงบ
สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71