ปปส.เยี่ยม "บ้านอบอุ่น" ต้นแบบการฟื้นฟูผู้เสพติดป่วยทางจิต
15 ก.ค. 2563, 20:20
วันนี้ (15 ก.ค.63) ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี พล.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขิการ ปปส. และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงการ “บ้านอบอุ่น” โดยมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี นายจำรัส กังน้อง ปลัดจ.อุดรธานี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และ นายชัยวัฒน์ ธรรมวัตร ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอเมือง นายเฉลิมศักดิ์ อินทร์หา หัวหน้าฝ่ายความมั่นคงอำเภอเมือง คุณหมอจันทร์สว่าง มาเนียม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลอุดรธานี รายงานสรุปการดำเนินงาน
สำหรับโครงการ “บ้านอบอุ่น” อำเภอเมืองอุดรธานี เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด การรักษาระยะห่าง แพทย์พยาบาลถูกระดมไปแก้ปัญหาการแพร่เชื้อ ทำให้อำเภอไม่สามารถส่งผู้เสพในฐานะผู้ป่วยเข้าค่ายบำบัดได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตซึ่งมีปัญหาขอความช่วยเหลือ ลูกมีอาการคุ้มคลั่งเมายาทำร้ายข้าวของ ทำร้ายร่างกายบุคคลในครอบครัว และตำรวจก็ควบคุมได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น บางรายถูกส่งโรงพยาบาลจิตเวช เลย เมื่อตรวจรับยาแล้ว ก็ถูกส่งกลับคืนและก่อปัญหาอีกเช่นเคย ปัญหาดังกล่าวฝ่ายความมั่นคงอำเภอเมืองอุดรธานี หาแนวทางแก้ไข โดยนำมาบำบัดที่อำเภอ มีการควบคุมดูแล ออกกำลังกาย บังคับกินยาและทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกับจนท.อส. แพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลอุดรธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ซึ่งผลปรากฏว่ามีอาการดีขึ้น จึงเกิดโครงการ “บ้านอบอุ่น” เพื่อให้ผู้เสพลดการต่อต้านในการที่จะเข้าบำบัดรักษา หัวใจสำคัญของบ้านอบอุ่นคือต้องการคืนผู้ป่วยเหล่านี้ให้กลายเป็นคนปกติสู่บ้านที่อบอุ่นของตนเอง
สำหรับ กระบวนการทำงาน จะใช้วิธีการบำบัดรักษาตามขั้นตอนกระบวนการของ matrix Program เป็นหลัก เสริมด้วยมาตรการบังคับตรวจสอบประกัน การรับประทานยาให้ครบโดยเจ้าหน้าที่อส. ซึ่งในการบำบัดรักษาจะมีพยาบาลวิชาชีพมาประจำอยู่ที่อำเภอทุกวัน ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ เปิดเป็นคลินิก Day care นัดผู้ป่วยในแต่ละรอบเข้ามาบำบัดรักษาตามระบบไม่ติดโปรแกรมให้ครบตาม 16 ขั้นตอน รวมทั้งมีการส่งต่อไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. อสม.ในพื้นที่ให้ดูแลติดตามพฤติกรรม สนับสนุนให้กำลังใจผู้เสพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นในราวเดือนพฤษภาคม จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยอยู่ที่บ้านอบอุ่น จำนวน 55 ราย จากการติดตามตรวจฉี่ปรากฎว่าไม่พบสารเสพติดในร่างกายแต่อย่างใด ที่สำคัญคือพฤติกรรมความก้าวร้าวรุนแรงลดลงเป็นอย่างมาก และหายขาดจากยาเสพติด มีจิตรู้สำนึกตนเองดีขึ้น
ความยุ่งยากในการปฏิบัติคือ ที่ตั้งของสถานที่ ได้รับสภาพโรงรถและอาคารเก็บของ มาเป็นสถานที่บำบัดรักษา ปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้นและกำลังปรับปรุงให้ดีขึ้น และการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชมากเข้าสู่กระบวนการบ้านอบอุ่น เสี่ยงอันตรายกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเนื่องจากบางรายไม่ทราบข้อมูลว่า ผู้เสพที่มีอาการทางจิต มีเรื่องของอาวุธหรือไม่ จึงต้องระมัดระวังอย่างสูง
พล.ต.ต.สุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการ ปปส. กล่าวว่า ต้องเรียนว่าโครงการที่ทางอำเภอเมืองอุดร โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีให้การสนับสนุน และให้ความสำคัญเรื่องของการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด ประการสำคัญคือผู้ที่มีอาการทางจิต ณ ปัจจุบันเรามีส่วนที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน แต่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆต้องบูรณาการและทำให้เกิดผล ตัวอย่างของ “บ้านอบอุ่น” ทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด เราทำให้พบว่าบุคคลที่ติดยา และส่งผลให้มีอาการทางจิตเข้ามารับการบำบัดและเป็นที่พึ่งสุดท้าย ทำให้พวกเขามีอาการฟื้นตัวขึ้น พูดคุยกับพ่อแม่ครอบครัวได้ และทราบว่าก่อนจะมาเข้าบำบัดมีอาการทำร้ายครอบครัว ทำร้ายผู้ปกครอง ลูกเมีย แต่มาเข้าสู่โปรแกรมแล้วก็ทำให้เขาฟื้นตัวและมีอาการเกือบปกติ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การดำเนินงานต้องมีปัญหาอุปสรรคหลายเรื่อง ประการสำคัญทางสำนักงานปปส.ก็มาเป็นตัวหนุนเสริมและช่วยเรื่องงบประมาณบางส่วนที่มาเติมเต็ม ขับเคลื่อนให้การทำงานของโครงการบ้านอบอุ่นสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น ซึ่งในรูปแบบการบริหารจัดการเอาคนมาบำบัดยาเสพติด กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการทางจิต เรามีสถานบริการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่เยอะและมีรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการเสพยา ยังหาผู้รับผิดชอบจริงๆยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีต้นแบบที่เราสามารถดำเนินการได้สุดทาง เราก็เห็นต้นแบบจากที่นี่คือ “บ้านอบอุ่น” ของอุดรธานี มีทีมงานมีความพยายามตั้งใจอย่างแน่วแน่ ทางสำนักงานปปส.ก็เลยเข้ามาให้การสนับสนุน
สำหรับสถานการณ์ยาเสพติดในภาคอีสาน เดิมการลักลอบนำเข้าจะหนักทางโซนทางเหนือ แต่ ณ ขณะนี้แนวโน้มมีการนำเข้าทางโซนภาคอีสานมากขึ้น และยิ่งโดยเฉพาะที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเช้าได้มีการประชุมกับศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจ.หนองคาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำชับมาตรการสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ ต้องเรียนว่ายาเสพติดไม่ได้ผลิตในประเทศไทย ผลิตที่สามเหลี่ยมทองคำเขาก็พยายามทุกช่องทางเข้าประเทศเรา ทั้งเหนือ อีสานและตะวันตก ขณะเดียวกันก็มีการประสานความร่วมมือด้านการต่างประเทศในโครงการต่างๆ ล่าสุดแผนปฏิบัติการ 1511 ว่าด้วยเรื่องการสกัดกั้นยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย ตอนนี้เราจับมือปฏิบัติการพร้อมกันกับประเทศภาคีในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจากข้อมูลข่าวสาร จะเห็นว่าทางการประเทศเมียนม่า ช่วงหลังมีการตรวจค้นแหล่งผลิตได้มากขึ้น////////////////////////////