"พัฒนาชุมชน" อ.รือเสาะ ดำเนินโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง จังหวัดนราธิวาส
18 ก.ค. 2563, 14:00
วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ พร้อมด้วยนางสาวมณีรัตน์ ศูนย์จันทร์ พัฒนากรผู้ประสานตำบลสาวอและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอรือเสาะ ดำเนินโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงจังหวัดนราธิวาส ณ แปลงสาธิตบ้านบือเจาะบองอ หมู่ที่ 7 ตำบลสาวอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ของนายมาหะมะสะบือรี มะเย็ง กำนันตำบลสาวอ ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวน 80 คน โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการดังนี้
ในวันที่ 1 -กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในการจัดเตรียมสถานที่
-กิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่รูปแบบประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยทีมวิทยากรสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอรือเสาะ
ในวันที่ 2 -กิจกรรมบรรยายแนวทางการดำเนินชีวิตด้วยความดีและความสุข ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยทีมงานพัฒนาชุมชนอำเภอรือเสาะ
-กิจกรรมบรรยายความเป็นมาและวัตถุประสงค์ กิจกรรม“โคก หนอง นา โมเดล” โดยทีมงานนักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส
-กิจกรรมบรรยายและสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพ และการทำปุ๋ยแห้ง โดยทีมงานนักวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอรือเสาะ
ในวันที่ 3 -กิจกรรมมอบเมล็ดพันธุ์ผัก การเพาะพันธุ์กล้าไม้ และการร่วมเก็บผลผลิตมะนาว ณ บริเวณแปลงสาธิตบ้านบือเจาะบองอ
กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และระดับอาชีพ คือ การส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืน โดยนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ครอบครัว ได้ดำเนินการเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการที่ให้มีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชอาหาร แหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัย อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้ประชาชนและชุมชนทุกแห่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์มาช่วยให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
“โคก หนอง นา โมเดล” เป็นอีกแนวทางในการขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งมีหลายมิติ คือการดำรงชีวิตแบบ “พออยู่ พอกิน” การร่วมมือร่วมใจ การช่วยเหลือกัน เกิดเครือข่ายสานสายใยความรู้ ทุกคนต้องมีใจเป็นหลัก มีการปรับเปลี่ยนวิถีแบบผสมผสานเกิดการเรียนรู้ โดยใช้หลักการบริหารพื้นที่ น้ำ ฟ้า ป่า อากาศ อันจะนำไปสู่ความ “กินดี อยู่ดี” มีรายได้เลี้ยงตัวเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การ “มั่งมี ศรีสุข” ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนและชุมชนทุกแห่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ได้ โดยเฉพราะช่วงวิกฤตโควิด-19