ศบค.ชี้ ต่อ-ไม่ต่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" พิจารณาหลายปัจจัย จ่อถกชุดเล็ก 20-21 ก.ค.นี้
19 ก.ค. 2563, 16:37
วันนี้ ( 19 ก.ค.63 ) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. กล่าวถึงการพิจารณามาตรการผ่อนปรนเฟส 6 ให้กับแรงงาน การแสดงสินค้า กองถ่ายภาพยนต์ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ระบุเฉพาะ ว่าคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีพลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน และคณะของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดคุยรอบด้าน จะนำเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในสัปดาห์นี้ พร้อมย้ำถึงการพิจารณาในการต่อ หรือยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย คาดว่า ศบค.ชุดเล็ก จะพูดคุยกันในวันที่ 20 หรือ 21 กรกฎาคมนี้ ก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่
ส่วนที่มีประชาชนร้องเรียนผ่านเพจศูนย์ข้อมูลโควิด -19 กรณีโรงแรมทั้ง 22 แห่ง ที่เป็นสถานที่พักทางเลือกเพื่อการกักกันแห่งรัฐ’ [Alternative State Quarantine ) เต็มแล้ว หากมีคนเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศให้ไปอยู่ที่ใดนั้น ศบค.ชุดเล็กได้มีการพูดคุยในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้มีคนเดินทางกลับจากต่างประเทศจำนวนมาก จึงทำให้ความต้องการที่พักสูง เบื้องต้นจะแก้ไขโดยใช้พื้นที่ของโรงแรมที่รัฐจัด (State Quarantine) ยังมีเหลืออยู่ เป็นโรงแรมระดับสามดาว และมีความพร้อมระบบสาธารณสุข แต่ทั้งนี้ต้องหาเพิ่มเติมอีก ซึ่งโรงแรมระดับสูงและโรงพยาบาลภาคเอกชนต้องร่วมมือกัน รวมทั้งโรงแรมที่มีความพร้อมสามารถติดต่อมาที่ ศบค. หรือทางเว็บไซต์ hsscovid.com เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ พร้อมระบุ วิกฤตของโลก ยังเป็นเรื่องของโควิด -19 ซึ่งไทยยังเป็นประเทศที่คนต่างชาติต้องการเข้ามา เป็นเพราะส่วนหนึ่งเป็นประเทศที่ปลอดภัย จึงย้ำทุกคนที่เข้ามาจะต้องอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ ซึ่งเป็นมาตรการเข้มและต้องทำต่อเนื่องไป
โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวว่ามีการนำเข้าคนติดเชื้อโควิด- 19 มาจากต่างประเทศ เพื่อมาสกัดกั้นการเคลื่อนไหวการเมือง ว่าไม่ได้มีเจตนานำเชื้อจากต่างประเทศเข้าไทย แต่สิ่งที่นำเข้ามา คือคนไทย และคนต่างชาติที่ต้องมาปฏิบัติภารกิจในไทย เพื่อให้กิจการและกิจกรรมทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยนำระบบกักตัวผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะนี้ไทยสามารถควบคุมได้ ย้ำยึดถือความปลอดภัยของคนไทยต้องปราศจากการติดต่อ หรือการแพร่ระบาดของโรค