เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"แม่ทัพภาคที่ 1" พร้อมคณะร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก ป้องกันพื้นดินถล่ม รอบอ่างเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 9


25 ก.ค. 2563, 13:47



"แม่ทัพภาคที่ 1" พร้อมคณะร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก ป้องกันพื้นดินถล่ม รอบอ่างเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 9




วันที่ 25 ก.ค. 63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์กาญจนบุรี ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พลโทธรรมนูญ  วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพน้อยที่ 1 พร้อมด้วยคณะ เดินทางลงพื้นที่เพื่อ ร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าแฝก ปลูกต้นไม้บริเวณรอบอ่าง และปล่อยพันธุ์ปลาลงในอ่างเก็บน้ำ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาส ครบ 68 พรรษา โดยมี พลตรีฐกัด  หลอดศิริ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 พร้อมกำลังพล  ตลอดจนผู้นำท้องถิ่น  คณะครู  และนักเรียน ให้การต้อนรับร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้

สำหรับโครงการปลูกหญ้าแฝกนี้ เป็นการสนองตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เคยให้แนวทางไว้เพื่อเป็นการป้องกันหน้าดิน ซึ่งรากของหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลายได้ดี ซึ่งทางกองทัพภาคที่ 1 จึงได้ให้ทางกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อไว้ในตลอดทั้งปีบนเนื้อที่กว่า 20 ไร่  ได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาส ครบ 68 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2563 นี้

สำหรับการปลูกหญ้าแฝกอย่างถูกวิธีได้ผลดีนั้น จะแก้ปัญหาการชะล้างและพังทลายของดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 และทรงพบว่าการทดลองปลูกหญ้าแฝกในที่ลาดเอียงให้ผลน่าพอใจ   รากหญ้าแฝกยาวถึง 3 เมตรในเวลา 8 เดือน   และระบบรากแผ่กระจายในดินตลอดความลึก 3 เมตร  และความกว้าง 50 เซนติเมตร ภายใต้อีกตัวอย่างหนึ่งของพระราชดำริ  ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับหญ้าแฝกซึ่งได้พระราชทาน   แก่เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2536 มีใจความว่า

" การปลูกหญ้าแฝก ถ้าปลูกกอเล็ก  ควรปลูกให้ใกล้และ ชิดกัน จะได้ผลเร็วกว่าและสิ้นเปลืองน้อยกว่าการปลูกกอใหญ่ และมีระยะห่างกัน และควรปลูกตามความห่างของแถวในแนวลาดเทประมาณเท่าความสูงของคน คือ  1.50  เมตร และทำแถวให้ขนานกับทางลาดเทด้วย …."  

ในโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มตามแนวพระราชดำริที่อำเภอโพธาราม  จังหวัดราชบุรี   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกไว้   ซึ่งมีใจความสรุปได้เป็น 2 ประการ คือ (2 )  ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล  เพื่อป้องกันไม่ให้ดินรอบๆ ต้นไม้เป็นหลุม  ในขณะเดียวกันก็ใช้ใบหญ้าแฝกที่ตัดออกจากกอมาคลุมดินรอบๆ ต้นไม้  เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ต้นไม้  ได้อีกด้วย และ ( 2 ) การปลูกหญ้าแฝกในแปลงเพาะปลูกพืชสามารถทำได้หลายรูปแบบ  เช่น  ปลูกโดยรอบแปลงปลูก  ในแปลงๆ ละ 1 หรือ 2 แถว และปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่  เป็นต้น  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริ  ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ  ทั้ง  6 แห่ง  ทดลองปลูกหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่างๆ ด้วย  ซึ่งผลการทดลองดังกล่าวที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง   คือ  เมื่อปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวของข้าวโพดและถั่วลิสง   ในพื้นที่ที่มีความลาดเท  5%  มีการสูญเสียหน้าดินเพียง  0.92 - 2.27 ตันต่อไร่ต่อปี  ในขณะที่พื้นที่ลาดเทเท่ากัน  แต่ไม่มีการปลูกหญ้าแฝก มีการสูญเสียหน้าดิน  5.27  ตันต่อไร่ต่อปี   นอกจากนี้  พื้นที่ที่ปลูกหญ้าแฝกยังรักษาความชุ่มชื้นของดินได้มากกว่าอีกด้วย  หญ้าแฝกที่เจริญเติบโตได้ดีในดินประเภทต่างๆ  ได้แก่  สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 และ 6 , สงขลา 3 ,  นครสวรรค์ ,  ร้อยเอ็ด ,  และราชบุรี  สำหรับดินทราย  สายพันธุ์ศรีลังกา กำแพงเพชร 2 ,  สุราษฎร์ธานี ,  สงขลา 3 และเลย   สำหรับดินลูกรัง กับสายพันธุ์ สุราษฎร์ธานี , สงขลา 3 เลย  และนครสวรรค์   

สำหรับดินร่วนและดินเหนียวการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรบนที่ดอนหรือที่สูง   จะใช้ในการเพาะปลูกพืชไร่และไม้ผล  เป็นหลัก แต่พื้นที่เหล่านี้มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีระบบการชลประทาน พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูก    จึงเป็นพื้นที่การเกษตรที่อาศัยน้ำฝน    ปัจจุบันแม้ว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่ตกในแต่ละปีจะมีปริมาณเท่าๆ  หรือใกล้เคียงกัน แต่เกษตรกรก็มักประสบปัญหาภัยแล้ง  หรือภาวะพืชที่เพาะปลูกขาดแคลนน้ำเป็นประจำ  ก่อความเสียหายแก่เกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก   การแก้ไขปัญหาภาวะพืชขาดแคลนน้ำ   ในพื้นที่เกษตรน้ำฝน   จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการในการเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินให้ได้อย่างยาวนาน   แต่เท่าที่ผ่านมาตราบจนปัจจุบัน  เกษตรกรส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่เกษตรยังคงใช้น้ำฝนเพาะปลูกติดต่อกันมา   โดยมิได้มีมาตรการใดในการช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นในดินเลย  ดังจะเห็นได้จากการที่ฝนตกลงมาก็ปล่อยให้น้ำฝนเป็นจำนวนมากไหลบ่าออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำลำคลอง   ซึ่งนอกจากจะเป็นการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว   น้ำฝนที่ไหลบ่ายังจะกัดเซาะและพัดพาหน้าดินซึ่งมีปุ๋ยและธาตุอาหารพืชที่สำคัญ    ให้สูญเสียไปอีกด้วย   

มาตรการในการช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินให้ได้อย่างยาวนาน   ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายๆ และมีประสิทธิภาพ ได้แก่ การปลูกหญ้าแฝกแถวเดียวเป็นแนวรั้วตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่   โดยแนวรั้วหญ้าแฝกดังกล่าวจะทำหน้าที่ลดแรงปะทะของน้ำฝนที่ไหลบ่า ทำให้น้ำแผ่กระจายและไหลซึมผ่านแนวรั้วหญ้าแฝก ซึ่งจะทำให้น้ำมีโอกาสไหลซึมลงเก็บกักรักษาไว้ในดินได้ทั่วพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ดินมีความชุ่มชื้น เป็นประโยชน์ต่อพืชหลักที่ปลูกไว้ต่อไป นอกจากมีลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกที่แตกต่างไปจากหญ้าอื่นๆ โดยทั่วไปก็ คือ ระบบรากฝอย  ของหญ้าแฝกจะแข็งแรงและหนาแน่น  สามารถชอนไชหยั่งลึกลงในดินตามแนวดิ่งได้ถึง  3  เมตร และรากจะไม่เจริญแผ่ขยายออกทางด้านกว้าง  จึงไม่แย่งอาหารของพืชหลักที่ปลูกใกล้เคียงกัน หญ้าแฝกมีรากแกนและรากแขนงอวบใหญ่ จึงทำให้เกาะยึดดินและดูดซับน้ำไว้ได้เป็นอย่างดี   

ดังนั้น เมื่อปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับขวางความลาดเทของพื้นที่แล้ว นอกจากต้นที่เจริญแตกกอ อัดกันแน่นเป็นกำแพง อยู่เหนือดินแล้วรากของหญ้าแฝกก็จะสานกันแน่นเป็นกำแพงอยู่ในดิน  ทำหน้าที่เกาะยึดติดและดูดซับเก็บความชื้นไว้ในดินได้เป็นอย่างดีอีกด้วย



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.