เตือนพื้นที่ 29 จังหวัด เสี่ยงเจอฝนถล่มหนักถึงหนักมาก
9 ส.ค. 2563, 08:58
กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก ประจำวันที่ 9 สิงหาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2563 โดยจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา, น่าน, แพร่, ตาก, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, ชัยภูมิ, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต และกระบี่
โดยในช่วงวันที่ 8 - 11 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณอ่าวไทยคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 14 สิงหาคม 2563 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ลาว และเวียดนามตอนบน ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านรับลมของบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
อนึ่ง พายุระดับ 2 (พายุดีเปรสชัน) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงในช่วงวันที่ 9-10 สิงหาคม 2563 ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 8 - 11 สิงหาคม ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และลมกระโชกแรง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศ และข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง