ประชาพิจารณ์ "เกาะดอนแพง" ดุเดือด ประชาชนหวั่นนายทุนแทรกชื่อเข้าครอง (คลิป)
20 ส.ค. 2563, 16:11
วันที่ 20 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ณ หอประชุมอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เนื่องจากเทศบาลตำบลบ้านแพงมีหนังสือถึงเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านแพง เชิญเข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์ การขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ "เกาะดอนแพง” เพื่อประโยชน์ในทางราชการ หรือเพื่อการอยู่อาศัย หรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในพื้นที่ส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 ของเกาะดอนแพง ซึ่งในหนังสือดังกล่าวระบุว่าการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวต้องขออนุญาตตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐฯดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548
ดังนั้นเพื่อให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบฯ จึงเชิญเข้าร่วมทำประชาพิจารณ์ตามวันและเวลาที่กล่าวมาข้างต้น โดยมีประชาชนตลอดจนเกษตรกรเข้าร่วมจนแน่นหอประชุม มีนายดนัย สิทธิวัชระ นายกเทศบาลตำบลบ้านแพง และ นายธรรมรัตน์ หลวงโป้ นิติกรชำนาญการ เทศบาลตำบลบ้านแพง กล่าวเปิดหัวข้อการทำประชาพิจารณ์ จำนวน 4 ข้อ ให้ผู้เข้าประชุมแสดงความคิดเห็น ได้แก่ 1.กรณีจังหวัดนครพนมดำเนินการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเกาะดอนแพง ส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 ต่อกรมป่าไม้ และมอบให้เทศบาลตำบลบ้านแพงดูแลฯ 2.ข้อดี ข้อเสียของการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินฯส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 มีความเห็นอย่างไร 3.กรณีเทศบาลตำบลบ้านแพงได้รับอนุมัติให้เข้ามากำกับดูแล บริหารจัดการและจัดสรรในการเข้าใช้ประโยชน์ฯเกาะดอนแพง ส่วนที่ 2 และ 3 นั้น มีความเห็นเช่นไร 4.เทศบาลฯดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินฯเกาะดอนแพง ส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 โดยวิธีการจัดให้ราษฎรเช่าเพื่อนำรายได้มาพัฒนาและบำรุงท้องถิ่น ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เป็นต้น
โดยที่ดินฯ เกาะดอนแพงในส่วนที่ 1 นั้น ทำแผนที่เป็นบริเวณสีเหลือง เนื่องจากทำการรังวัดและแบ่งแปลงไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2,429 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา สำหรับส่วนที่ 3 จำนวน 1,012 ไร่ เป็นบริเวณสีแดง ทำการรังวัดและแบ่งแปลงไปแล้วเช่นกัน จึงเหลือส่วนที่ 2 จำนวน 724 ไร่ บริเวณสีเขียว ที่ยังไม่มีการรังวัดและแบ่งแปลง
การทำประชาพิจารณ์จึงเป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้น โดยขณะที่ผู้สื่อข่าวเข้าไปบันทึกภาพ มีชายสูงวัยคนหนึ่งเข้ามาห้ามถ่ายภาพ พร้อมกับขู่ว่าอาจจะถูกฟ้องร้องทางคดี ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ตอบกลับไปให้ฟ้องได้เลย เพราะที่มาครั้งนี้ไม่ใช่ความลับอะไรทั้งสิ้น ก่อนที่จะถูกนายบัญญัติ ใจช่วง ประธานสภาเทศบาลตำบลบ้านแพง เข้ามาดึงชายสูงวัยคนนั้นมานั่งเก้าอี้ด้านข้างเวที
ในที่ประชุมนายนพเดช แสนศรี เกษตรกรบ้านแพงใต้ หมู่ 11 ได้ลุกขึ้นพูดว่าไม่สมควรอนุญาตให้มีการดูดทรายในพื้นที่แม่น้ำโขงใกล้กับเกาะดอนแพง เพราะจำทำให้ที่ดินทรุดเสียหาย เรียกเสียงปรบมือในหอประชุมดังกึกก้อง ส่วนนายแผน สมสอง เกษตรบ้านเนินคนึง ต.บ้านแพง ๆ ได้กล่าวว่าให้เกษตรกรและประชาชนดูแผนที่สีต่างๆ ให้ดี ว่ามีการหมกเม็ดอะไรหรือไม่ และจะมีชื่อนายทุนสอดแทรกเข้ามาเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า และนายสันติ พรหมจอม เกษตรกรบ้านแพงวิทยา หมู่ 4 ต.บ้านแพง บอกว่าไม่อยากให้แบ่งแยกเป็นสีต่างๆ ควรนำมาร่วมกันเป็นสีเดียว เป็นต้น
สำหรับเกาะดอนแพงหรือหาดดอนแพง ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขงเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลฝรั่งเศส (สมัยเข้าปกครองประเทศลาว) ต่อมาเกิดการตื้นเขินโดยธรรมชาติ จนที่ดินบริเวณตำบลบ้านแพงและหาดดอนแพงได้เชื่อมติดเป็นแผ่นดินเดียวกัน และรัฐบาลฝรั่งเศสได้ยินยอมให้โอนหาดดอนแพงตกอยู่ในการปกครองของรัฐบาลสยาม เมื่อปี พ.ศ.2471 เป็นต้นมา
ต่อมาปี พ.ศ.2499 จังหวัดนครพนม ได้เสนอกระทรวงมหาดไทยขอรับโอนที่ดินเกาะดอนแพงเป็นทรัพย์สมบัติของจังหวัด โดยอนุญาตให้ราษฎรเข้าทำประโยชน์ มีเงื่อนไขห้ามโอน ห้ามเช่าเอากำไร และกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้จังหวัดนครพนมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จำนวน 2,345 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้ออกระเบียบว่าด้วยการหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐเกาะดอนแพง กำหนดให้ผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐต้องเสียอัตราค่าเช่าอย่างต่ำไร่ละ 20 บาท/ปี และสภาจังหวัดนครพนมได้มีมติให้แบ่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ดังกล่าวให้แก่สุขาภิบาล 50 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาปี 2540 มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นเหตุให้อำเภอถูกยุบ และ ได้ทราบว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวแล้ว จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้สุขาภิบาลบ้านแพง (ในขณะนั้น) มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมขออนุมัติให้สุขาภิบาลบ้านแพง เป็นผู้จัดเก็บในที่ดินดังกล่าวแทนในปี พ.ศ.2526 แต่จังหวัดนครพนมแจ้งว่าสุขาภิบาลบ้านแพง ไม่สามารถจัดเก็บผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของจังหวัดฯ
ถึงปี 2532-2537 นายประดิษฐ์ ภาโสม ประธานสภาตำบลบ้านแพงในขณะนั้น จึงมีหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการปกครองสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ช่วยแก้ไขการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนของท้องถิ่น ในหลักการที่ว่าผลประโยชน์ที่เก็บได้ในท้องถิ่นใดขอนำไปทำนุบำรุงท้องถิ่นนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงได้ศึกษาหาข้อเท็จจริงและมีมติที่ประชุมฯ ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยและข้อบัญญัติจังหวัดนครพนม เพื่อมอบอำนาจให้สุขาภิบาลบ้านแพงจัดเก็บผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐเกาะดอนแพง ตามนัยมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และต่อมาสุขาภิบาลบ้านแพงได้ส่งโครงการจัดหาผลประโยชน์ฯไปยังกรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการ กรมที่ดินแจ้งว่าที่ดินที่สุขาภิบาลขอจัดหาผลประโยชน์นั้น บางส่วนคือที่งอกริมตลิ่งมีเนื้อที่ 1,590 ไร่ ซึ่งอยู่นอกเขตสุขาภิบาลหากจะดำเนินการขอร่วมกันให้สุขาภิบาลฯดำเนินการให้ได้รับอนุญาตตามนัยมาตรา 25 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สุขาภิบาลก่อน เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจัดทำโครงการจัดหาผลประโยชน์ต่อไป ผ่านมาสองปี พ.ศ.2536 กรมที่ดินมีหนังสือให้จังหวัดแจ้งสุขาภิบาลบ้านแพง ดำเนินการจัดทำแผนผังโครงการและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ จัดทำร่างสัญญาเช่าที่ดิน ตามแบบกระทรวงการคลังและกำหนดราคาเช่า สุขาภิบาลบ้านแพงจึงทำหนังสือถึง ผวจ.นครพนม เพื่อขอรับการสนับสนุนนายช่างจัดทำแผนที่ภาษีและเชี่ยวชาญตามกฎหมาย จัดทำรายละเอียดการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐฯ พร้อมทั้งขอทราบประมาณการค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินฯ สำนักงานที่ดินได้แจ้งประมาณการค่าใช้จ่ายมาจำนวน 50,000 บาท และมีคำสั่งให้นายสมพงษ์ เจียงสว่าง นายช่างไปทำการรังวัดทำแผนที่ฯ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 และอำเภอบ้านแพงได้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่นำชี้รังวัด ถึงปี 2537 เจ้าหน้าที่กองสำรวจและควบคุมที่ดินของรัฐ กรมที่ดินแจ้งสุขาภิบาลจัดทำแผนที่ตามหลักวิชาการฯ สรุปมีเนื้อที่จำนวน 2,345 ไร่ และขอความร่วมมือสำนักงานที่ดินฯ จัดทำแผนที่ตามส่วนดังกล่าว โดยมอบหมายให้นายอภิรัตน์ ป้องกัน เป็นผู้ประสานงานในการจัดทำแผนที่ กระทั่งปี 2538 จังหวัดนครพนม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐเกาะดอนแพง ซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นควรให้สุขาภิบาลฯ เป็นผู้จัดหาผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จำนวน 2,429 ไร่ 2 งาน 58 ตารางวา และรายงานผลการพิจารณาไปยังกรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
กระทั่งปี 2563 มีนายทุนเข้ามาอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวมากเกือบ 70 แปลง มีสื่อมวลชนนำเสนอเรื่องดังกล่าวจนเป็นข่าวโด่งดัง ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐอันเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน "เกาะดอนแพง” ตามคำสั่งจังหวัดนครพนม ที่ 2042/63 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยคณะกรรมการฯ ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พ.ค.63 ซึ่งทำให้ทราบว่าที่ดินเกาะดอนแพงในส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ต่อมาได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 28563 โดยในที่ประชุมเห็นชอบให้เทศบาลตำบลบ้านแพง ดำเนินการจัดทำประชาคมและจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมทั้งขอความเห็นชอบต่อสภาเทศบาลตำบลบ้านแพง เพื่อขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเกาะดอนแพง ส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 ต่อไป