เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ผวจ.ศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ และภาคเอกชนติวเข้มผ้าทอที่ จ.อุดรธานี


20 ส.ค. 2563, 18:40



ผวจ.ศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการภาครัฐ และภาคเอกชนติวเข้มผ้าทอที่ จ.อุดรธานี




เมื่อวันที่ 20 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 - 19  ส.ค. 2563 ตนได้นำคณะตัวแทนผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป  ประเภทผ้า และหัวหน้าส่วนราชการ จ.ศรีสะเกษ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคเอกชน ประกอบด้วย นายสฤษฏ์ นาควารินทร์ ประธานหอการค้า จ.ศรีสะเกษ ดร.ธรภัทร  ส่งเสริม ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ศรีสะเกษ ดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ศรีสะเกษ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ  จำนวนประมาณ 50 คน เดินทางไปตามโครงการยกระดับผ้าทอพื้นเมืองอัตลักษณ์ศรีสะเกษ ศึกษาดูงานการยกระดับผ้าทอเกษตรแปรรูป และโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว ขับเคลื่อนวาระของจังหวัดปี 2563 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนา จ.ศรีสะเกษ ให้ภาคีเครือข่ายร่วมบูรณาการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดินแดนเกษตรปลอดภัย การค้าและการท่องเที่ยวครบวงจร พัฒนาผ้าทอมือธานี  ผ้าศรี...แส่ว ศรีสะเกษ ให้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนและใช้ภูมิปัญญา เพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ 

 



นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า การเดินทางไปศึกษาดูกระบวนการเสริมสร้างนวัตกรรมและการออกแบบผ้าพื้นเมืองที่ศูนย์สร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มรภ.อุดรธานี ในครั้งนี้ มี ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย ประธานศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มรภ.อุดรธานี  (FTCDC)  ได้นำคณะมาต้อนรับด้วยตนเอง  FTCDC  มรภ.อุดรธานี  ได้จัดแฟชั่นนวัตกรรมผ้าและสิ่งทอชุมชน  Fashion  &  Innovation  in  Fabric  and Textiles  2020  การเดินแบบแฟชั่นผ้าทอ จากนักศึกษา  FTCDC มรภ.อุดรธานี การนำเสนอผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ และบอกว่า ได้ตั้งศูนย์ฯ เพื่อบูรณาการภูมิปัญญาดั้งเดิมของการทอผ้า มาประยุกต์กับองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ให้มีศักยภาพในการช่วยสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ลงไปสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ยกระดับผ้าทอชุมชนสู่สากล  การส่งเสริมปลูกฝ้ายสี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติ การพัฒนานวัตกรรมมาตรฐานสีย้อมธรรมชาติจากบัวแดง การพัฒนาการผลิตครามพื้นเมือง เป็นต้น ซึ่ง  จ.ศรีสะเกษ มีการพัฒนานวัตกรรมสีย้อมธรรมชาติจากดอกลำดวน ไม้มะดัน ดินลาวา ดินทุ่งกุลา คล้ายกับที่ จ.อุดรธานี ใช้ดอกบัวแดงมาย้อมสีผ้า แต่นวัตกรรมมาตรฐานสีย้อมธรรมชาติที่อุดรจะมีเคล็ดลับส่วนผสมที่ผ่านการวิจัยจนเป็นสูตรลับทำให้สีไม่ตก จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนอกจากดูงานที่  FTCDC มรภ.อุดรธานี  แล้ว ยังได้นำคณะไปดูกระบวนการบริหารจัดการผ้าพื้นเมืองครบวงจรที่ศูนย์ทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี ศึกษาหมู่บ้านโอท็อป นวัตวิถีครบวงจร ศึกษาวิถีชีวิตไทยพวน ศึกษาการเชื่อมโยงการตลาดและสินค้าการเกษตร ที่ตลาดจริงใจ เซ็นทรัลอุดรธานี อีกด้วย ซึ่งคณะที่มาศึกษาดูงานได้ถอดบทเรียนบนรถทันที่ที่ดูงานเสร็จ และมีการถกปัญหาที่ผ่านมาของการผลิตผ้าทอพื้นเมืองของ จ.ศรีสะเกษ และเปรียบเทียบกับการก้าวสู่อินเตอร์ของ จ.อุดรธานี ได้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนหลายด้าน ได้เรียนรู้การทำสีผ้าจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน แต่การเพิ่มมูลค่าเพิ่มต่างกัน ทำให้รายได้ของชาวบ้านยังน้อยกว่ากันมาก ตนรู้สึกดีใจมากที่ผู้ร่วมเดินทางมาศึกษาดูงานมีความสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้สอบถามวิธีการจากการได้เห็นของจริง ทุกคนต่างยอมรับจุดบกพร่องของตนเอง และอาสากันทุกกลุ่มว่า จะพยายามมากขึ้นกว่าเดิม โดยรีบนำสิ่งที่ได้เห็นกลับไปแก้ไขพัฒนาให้ได้ผลในเร็ววัน เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.