เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"แม่ทัพภาคที่ 2" ร่วมกับรองโฆษกรัฐบาล บวงสรวงปราสาทโดนตวลใกล้ปราสาทพระวิหาร สืบสานประเพณีท้องถิ่น


31 ส.ค. 2563, 08:14



"แม่ทัพภาคที่ 2" ร่วมกับรองโฆษกรัฐบาล บวงสรวงปราสาทโดนตวลใกล้ปราสาทพระวิหาร  สืบสานประเพณีท้องถิ่น




เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 63  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่บริเวณปราสาทโดนตวล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมด้วย นายวัฒนา  พุฒิชาติ  ผวจ.ศรีสะเกษ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล  รองโฆษกรัฐบาล ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีบวงสรวงปราสาทโดนตวล ซึ่ง นายโชคชัย   สายแก้ว  นายก อบต.เสาธงชัย ร่วมกับ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ต.เสาธงชัย ส่วนราชการและประชาชนในเขต ต.เสาธงชัย ได้จัดงานนี้ขึ้น  เพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ปกป้องคุ้มครองชาว ต.เสาธงชัย ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น  ส่งเสริมการท่องเที่ยวเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย โดยมีกิจกรรมประกอบด้วยพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรมและภัตตาหารแด่ประสงฆ์ พิธีเปลี่ยนผ้าสไบให้กับเทวรูป พิธีผูกผ้าเจ็ดสีที่เสาศิลาแลงและซุ้มประตูทางเข้าปราสาทโดนตวล พิธีบวงสรวงปราสาทโดนตวล และมีการแสดงย้อนตำนานการสร้างปราสาทโดนตวลอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยมี พล.ต.อดุลย์   บุญธรรมเจริญ  ผบ.กองพลทหารราบที่ 6 และ ผบ.กองกำลังสุรนารี  พร้อมด้วย  พล.ต.ธวัชชัย   แจ้งประจักษ์ ผบ.มณฑลทหารบกที่ 27 พล.ต.ต.สันติ  เหล่าประทาย ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ นายวิชิต   ไตรสรณกุล   นายก อบจ.ศรีสะเกษ  พ.อ.วีระยุทธ   รักศิลป์  รอง ผบ.กองพลทหารราบที่ 6 และ รอง ผบ.กองกำลังสุรนารี  ดร.อุดมลักษณ์  เพ็งนรพัฒน์ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4  พ.ท.ไกรพล   เจริญชัย   นายทหารที่คุมกำลังดูแลพื้นที่บริเวณปราสาทโดนตวล นายวรการ  น้อยสงวน ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ศรีสะเกษ นำคณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาว ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ให้การต้อนรับและร่วมพิธีครั้งนี้

 

 

 



นายโชคชัย   สายแก้ว  นายก อบต.เสาธงชัย  กล่าวว่า  การจัดพิธีบวงสรวงปราสาทโดนตวล จัดติดต่อกันมานานกว่า 10 ปีแล้ว  เนื่องจากว่า ชาว ต.เสาธงชัย ทุกคนเชื่อว่า ปราสาทโดนตวลแห่งนี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยปกป้องคุ้มครองชาว ต.เสาธงชัยทุกคนให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขและแคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว รวมทั้งเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย  ซึ่งความเป็นมาของตำนานปราสาทโดนตวลนั้น  ได้กล่าวถึงสตรีสูงศักดิ์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม แต่มีลักษณะอาภัพ คือหน้าอกใหญ่ ไปไหนมาไหนไม่สะดวก ต้องเอาสายสร้อยทองคำเป็นสาแหรกรองรับไว้ กิตติศัพท์เลื่องลือไปจนถึงกษัตริย์ขอม จึงให้เหล่าอำมาตย์มารับนางไปเฝ้า

 

แต่ขณะเดินทางได้พักที่ลานหินโดนตวล ขณะนั้นตาเล็งซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับนางนมใหญ่ ได้เข้าไปตามนางนมใหญ่กลับไป เกิดการต่อสู้กับเหล่าอำมาตย์จึงฆ่าตาเล็งทิ้งไว้ที่ป่าบริเวณที่สร้างปราสาทโดนตวลปราสาทโดนตวล เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาสูง บนเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วยปรางค์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐ ซุ้มประตูก่อด้วยศิลา และมีรูปสิงโตจำหลักอยู่หน้าปราสาท ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณหน้าปราสาทมีถนนปูด้วยหินขนาดเล็ก กว้าง 6 เมตร มีเสาหิน 2 คู่ สูง 3 เมตร อยู่ห่างกันราว 250 เซนติเมตร ซุ้มประตูทางเข้าปราสาทมีรูปสิงห์โตจำหลักตั้งอยู่บนแท่นข้างละ 1 ตัว ตัวปราสาทประกอบด้วยซุ้มประตู และปรางค์ 2 องค์ ซุ้มประตูมีจำนวน 3 ประตำ ก่อด้วยศิลา ประตูกลางมีขนาดใหญ่ที่สุด กว้าง 1 เมตร สูง 2.5 เมตร ประตูเล็กซ้ายขวา กว้าง 70 เซนติเมตร สูง 1.8 เมตร

 

 

 

 


นายก อบต.เสาธงชัย  กล่าวต่อไปว่า  กรอบประตูและศิลาทับหลังไม่ได้จำหลักลวดลาย ปรางค์องค์หน้าอยู่ถัดจากซุ้มประตูเข้าไปประมาณ 1 เมตร หักพังจนมีสภาพเป็นกองอิฐทับถมกันอยู่ ปรางค์องค์ในอยู่ห่างจากปรางค์องค์แรกประมาณ 1 เมตร ก่อด้วยอิฐและศิลาแลงฐานทำเป็น 4 ชั้น กว้างด้านละ 6 เมตร สูง 26 เมตร ตัวปรางค์มีประตูเข้าออกทางด้านหน้า 1 ประตู กว้าง 1 เมตรสูง 2 เมตร คูหาปรางค์มีเนื้อที่ 3.7 x 3 เมตร ลักษณะของปรางค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมสลับซับซ้อนลดหลั่นกันไปจนถึงยอด ห่างจากปราสาทประมาณ 10 เส้น มีสระน้ำขนาดใหญ่กว้างด้านละ 80 เมตร มีร่องระบายน้ำจากยอดเขาลงมาสู่สระร่องน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ประวัติศาสตร์ยังไม่มีปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้จากการที่กรมศิลปากรบันทึกไว้ว่าที่ช่องตาเฒ่า ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ ซึ่งเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการสำรวจพบ เทวรูปทำด้วยหิน 1 องค์ สูง 2 ศอก กว้าง 1 คืบเศษนั่งแท่นหินที่แท่นมีจารึกอักษร โบราณสถานช่องตาเฒ่าที่กรมศิลปากรได้บันทึก คือ ปรางค์ศิลาโดนตวล สำหรับอายุของปราค์ศิลาแห่งนี้คงอยู่ราว พ.ศ. 1500 - พ.ศ. 165

 

 

 

 

 

 

ศิริเกษ  หมายสุข ผู้สื่อข่าว จ. ศรีสะเกษ

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.