คึกคัก ! งานสืบสานประเพณี "ลอยเรือสะเดาะเคราะห์" ของชาวไทยรามัญ ที่สังขละบุรี
3 ก.ย. 2563, 15:21
วันนี้ 3 ก.ย. 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม (วัดหลวงพ่ออุตตมะ) บ้านวังกะ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ชาวไทยเชื้อสายมอญ และนักท่องเที่ยวที่สนใจจำนวนมาก ร่วมงานบุญประเพณี “ลอยเรือสะเดาะเคราะห์” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก และเชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมงานบุญลอยเรือสะเดาะเคราะห์จะพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ งานนี้มีกำหนดจัดขึ้น 3 วัน คือ ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยประเพณีนี้ถือเป็นงานบุญเดือนสิบที่สำคัญของชาวมอญ มีประวัติความเป็นมาแต่ครั้งอดีตและยึดถือปฏิบัติอย่างยาวนาน ตราบจนทุกวันนี้
สำหรับการเตรียมงานพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์นั้นต้องอาศัยความสามัคคีในทุกๆ ขั้นตอน โดยก่อนถึงวันพิธีชาวบ้านจะร่วมมือร่วมใจกันเตรียมทำธง ร่ม และจัดเครื่องบูชาต่างๆ เพื่อถวายวัด มีการแบ่งงานให้หัวหน้าคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้าน รับไปให้ลูกบ้านช่วยทำ ผู้ชายส่วนหนึ่งจะมารวมกันที่วัดเพื่อสร้างเรือจากลำไม้ไผ่ประดับตกแต่งด้วยกระดาษหลากสี ในยามหัวค่ำจนถึงเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ ชาวบ้านจะทยอยพากันนำธง ตุง ร่มกระดาษ มาประดับตกแต่งเรือและบริเวณปะรำพิธีอย่างเนืองแน่น พร้อมนำเครื่องเซ่น เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าว ดอกไม้ ไปวางไว้ในลำเรือ จุดเทียนอธิษฐานให้สิ่งไม่ดีและเคราะห์ร้ายต่างๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตน และรับฟังบทสวดอิติปิโส 108 จบ และบทสวดสะเดาะเคราะห์จากภิกษุสงฆ์ มีการจุดเทียนสะเดาะเคราะห์ ทำบุญอุทิศ ให้แก่ ญาติและบรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับ
โดยสิ่งของที่นำมาทำบุญจะถูกจัดเตรียมไว้ให้ผู้มาร่วมบุญ ใส่ไว้ในจาน ภายในประกอบด้วย ข้าวสวย อาหารคาว-หวาน น้ำและผลไม้ ผู้มาร่วมงานสามารถทำบุญแล้วนำอาหารไปให้เจ้าหน้าที่ บริเวณเรือจำลองที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ โดยเจ้าหน้าที่จะรับก่อนนำไปใส่ไว้ในเรือ ส่วนธงตะขาบสามารถนำไปติดไว้ส่วนไหนของเรือก็ได้ ก่อนจะมีการนำเรือที่สร้างขึ้นมาไปปล่อยลงน้ำ
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมนำโคมลอยมาปล่อย เพราะมีความเชื่อว่า อานิสงส์จากการปล่อยโคมลอยจะทำให้สิ่งที่ไม่ดีในชีวิต ลอยไปกับโคมที่เราปล่อย โดยพิธีเช่นนี้ได้มีการสืบทอดเป็นประเพณีมาช้านานหลายชั่วอายุคนตามความเชื่อของชาวมอญ และเมื่อถึงเช้าวันแรม 1 ค่ำ ชาวบ้านก็มารวมตัวกันตั้งเป็นขบวนแห่ มีการเล่นโคม ปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่ ประกอบการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน จากนั้นชาวบ้านทั้งหมดจะช่วยกันลากเรือไปปล่อยกลางน้ำบริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำสามสาย ได้แก่ ซองกาเลีย รันตี และบิคลี่ ที่เรียกกันว่า "สามประสบ" นั่นเอง