"พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส" นำทีมพัฒนาชุมชนนราธิวาส ตอบสนองนโยบายรัฐบาล แปลงไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
5 ก.ย. 2563, 10:56
วันที่ 5 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายอับดุลนัสเซอร์ หะมิ พัฒนาการอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า นายไกรวุฒิ ช่วยสถิตย์ พัฒนาการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตตามหลักทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ตลอดจนการขับเคลื่อนโครงการ มะนารอ อาหารเพียงพอ ปลอดภัย ใกล้ครัว ของนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ที่เป็นการขยายผลและสอดคล้อง รองรับการดำเนินงาน"โคก หนองนา โมเดล" วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในทิศทางการปฏิบัติ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วางแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาด มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยมี ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการจังหวัด และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องทั้ง 13 อำเภอเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุมหลวงปริวรรต ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส
ตามที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบประมาณ 4,787,916,400 บาท (สี่พันเจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดล้านเก้าแสนหนึ่งหมื่นหกพันสี่ร้อยบาทถ้วน) ภายใต้แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้สั่งการให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอดำเนินการสำรวจและรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ และจัดทำบัญชีกลุ่มเป้าหมายเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 3 กลุ่ม ได้แก่งบปกติกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2564 งบเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 1 และงบเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการรับสมัครเกษตรกรที่มีคุณสมบัติและประชาชนทั่วไปที่ประสงค์เป็นผู้รับจ้างงานเข้าร่วมโครงการ ด้วยลักษณะโครงการที่ใกล้เคียงกันข้างต้น อาจส่งผลให้เกิดความสับสนของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบกับการขาดความเข้าใจในแนวทางการขับเคลื่อนโครงการของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอในเชิงลึก จึงส่งผลต่อการให้ข้อมูลและให้บริการแก่ประชาชนที่อาจคลาดเคลื่อน อาจส่งผลต่อความเข้าใจผิดและการร้องเรียนของประชาชนในภายหลัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับเกิดความเข้าใจไปในทิศทางการปฏิบัติเดียวกัน รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการวางแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาด และมุ่งสู่เป้าหมายของโครงการตามห้วงระยะเวลาที่กำหนดต่อไป สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาสจึงได้จัดการประชุมซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. กระบวนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส 4 กระบวนงานในงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย
1.1 การฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ระยะเวลา 5 วัน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา
1.2 การพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน (HLM) พื้นที่ขนาด 1 ไร่ 3 ไร่ รวม 11 อำเภอ 39 ตำบล 74 ครัวเรือน
1.3 แนวทางการสร้างงาน สร้างรายได้ รายเดือนให้แก่เกษตรกร แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน 39 ตำบลๆ ละ 2 รายรวม 78 อัตรา ระยะเวลา 12 เดือน ค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท
1.4 การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในพื้นที่ HLM ไม่น้อยกว่าจุดละ 3 ครั้ง โดยมีงบประมาณสนับสนุนค่าวัสดุจุดละ 20,000 บาท
2. การตรวจสอบคุณสมบัติและจัดทำทะเบียนประชาชนที่สมัครเข้าร่วมโครงการประเภทต่างๆ
3. การจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับการขออนุญาตการใช้ที่ดินเข้าร่วมโครงการ สำหรับพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง และที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ ตามระเบียบของทางราชการ
4. การถอดบทเรียน เพื่อวางแผนการดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เช่น
5. การสร้างเอกลักษณ์และความโดดเด่นของกิจกรรมในพื้นที่
6. การสร้างความร่วมมือกับ 7 ภาคีเครือข่ายการพัฒนา (ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคการศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน)
7. การเตรียมการส่งเสริมทุนสำหรับการต่อยอดงานของกลุ่มเป้าหมาย
8. การวางแผนการแปรรูปและการตลาดสำหรับผลผลิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการ เป็นต้น
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสมีเป้าหมายผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมระยะที่ 1 รวมกว่า 74 ครัวเรือน เป้าหมายงบปกติกรมการพัฒนาชุมชน 213 ครัวเรือน และมีการสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม (งบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมระยะที่ 2) อีกกว่า 40 ครัวเรือน