กรมบังคับคดี เผยปชช.ผู้รับบริการเชื่อมั่นกระบวนการบังคับคดี สูงถึงร้อยละ 90.2
5 ต.ค. 2563, 14:21
วันนี้ ( 5 ต.ค.63 ) เมื่อเวลา 09.15 น. นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพดล กรรณิกา หัวหน้าโครงการสำรวจฯ บริษัท ซูเปอร์โพล จำกัด แถลงผลการวิจัยโครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยผลจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 90.2 เชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม ซึ่งสูงกว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่มีผลความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม ร้อยละ 88.2
นางอรัญญา ทองน้ำตะโก อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงว่า ภารกิจหลักของกรมบังคับคดีเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เป็นกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความเป็นธรรม และอำนวยความสะดวกแก่คู่ความทุกฝ่ายในคดี รวมถึงประชาชนผู้รับบริการ ตามแผนปฏิบัติราชการ 3 ปี (พ.ศ. ๒๕๖3 – ๒๕๖5) กรมบังคับคดีกำหนดยุทธศาสตร์การเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรและยกระดับธรรมาภิบาล เพื่อให้มีภาพลักษณ์องค์กรที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส เป็นธรรม เสมอภาค และทันสมัย เป็นองค์กรที่มีระบบการบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวก และได้รับการตอบสนองความต้องการ รวมทั้งมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
โดยมุ่งเน้นถึงความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนผู้รับบริการเป็นหลักสำคัญ และเพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปสู่ LED - Thailand 4.0 ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนตามนโยบายการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เสริมสร้างความเชื่อมั่นของการบังคับคดี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่งคั่ง ยั่งยืน จึงทำให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานภาครัฐต้นแบบการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ดังนั้น การนำความเห็นจากผู้รับบริการผู้มีส่วนได้เสียมาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพของงานราชการและบริการประชาชน เพื่อเป็นการสนับสนุนการปรับปรุงการให้บริการโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง
จึงให้มีการสำรวจวิจัย "โครงการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖3" โดยมอบหมายให้บริษัท ซูเปอร์โพล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการตามโครงการนี้ เพื่อให้การสำรวจมีความเป็นมาตรฐาน น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติ ในการสำรวจจึงต้องมีผู้ประเมินอิสระจากหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ดำเนินการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพดล กรรณิกา หัวหน้าโครงการสำรวจฯ แถลงว่า การวิจัยสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการบังคับคดี ใน 7 กระบวนการ ได้แก่ 1. กระบวนการบังคับคดีแพ่ง 2. กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย 3. กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ 4. กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี 5. กระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย 6. กระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/
ขายทอดตลาด และ 7. กระบวนการวางทรัพย์
โดยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี จากกลุ่มประชากรเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 3,458 รายทั่วประเทศ โดยการสำรวจครั้งนี้ใช้วิธีการดำเนินการเก็บข้อมูล 3 ส่วน คือ
การสัมภาษณ์แบบเผชิญหน้า (Face-to-face Interview) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และ
การจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group) โดยสรุปผลการสำรวจได้ ดังนี้
1. ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม
ร้อยละ 90.2 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีโดยภาพรวม
ร้อยละ 89.7 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีแพ่ง
ร้อยละ 85.6 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการบังคับคดีล้มละลาย
ร้อยละ 84.7 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ร้อยละ 86.2 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี
ร้อยละ 84.6 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
ร้อยละ 87.0 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการประมูลซื้อทรัพย์/การขายทอดตลาด
ร้อยละ 85.7 มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการวางทรัพย์
2. ความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดี ในแต่ละกระบวนการ
ร้อยละ 90.4 กระบวนการบังคับคดีแพ่ง
ร้อยละ 88.9 กระบวนการบังคับคดีล้มละลาย
ร้อยละ 89.7 กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
ร้อยละ 87.5 กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี
ร้อยละ 90.3 กระบวนการติดตามและเฉลี่ยทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
ร้อยละ 89.7 กระบวนการประมูลซื้อทรัพย์ การขายทอดตลาด
ร้อยละ 90.1 กระบวนการวางทรัพย์
3. ความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม
ร้อยละ 86.8 ความพึงพอใจต่อกระบวนการบังคับคดีในภาพรวม
ร้อยละ 86.6 มีความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของการดำเนินการและบริการ
ร้อยละ 87.3 ยึดหลักกฎหมายในการดำเนินการและบริการ
ร้อยละ 87.4 การบังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่งศาล เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้
ร้อยละ 89.1 ดำเนินการขายฯด้วยความโปร่งใส และไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใด
ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะได้สำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนผู้รับบริการที่มีต่อกระบวนการบังคับคดี อย่างต่อเนื่องต่อไปในทุกๆปี เพื่อพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้รับบริการ รวมถึงเพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมบังคับคดีที่สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ในการเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของสาธารณชนต่อภารกิจสำคัญในกระบวนการบังคับคดี