กมธ.ฯ เร่งใช้การวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้สำหรับเกษตรกร
10 ต.ค. 2563, 14:51
วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร และคณะเดินทางไปศึกษาดูงาน โครงการพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานราก ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับการพัฒนาอาชีพและรายได้ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนโดยการนนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับรับฟังปัญหาและอุปสรรคในเรื่องต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่ให้คนในชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ในสภาวการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเดิมประเทศไทยพึ่งพาต่างประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเชิญนักลงทุนมาร่วมลงทุนในประเทศ หรือการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดภาวะการ Disrupt หรือโลกป่วน ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จึงต้องหันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรการเกษตร มีความหลายกลายชีวภาพ และหลากหลายวัฒนธรรม
น.ส.สกุณา สารนันท์ ส.ส.สกลนคร เขต 5 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จ.สกลนครก็เป็น 1 พื้นที่นำร่อง ที่จริงแล้วสกลนครของเรามีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เรามีความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตรกร เรามีแหล่งน้ำ มีภูเขา มีทะเลสาบน้ำจืด ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และที่สำคัญที่สุดเรามีเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง แต่ที่ผ่านมาเราขาดโอกาส วันนี้ตนเองในฐานะเป็นตัวแทนภาคประชาชน ก็ได้ถือโอกาสนี้ประสานความร่วมมือ ในฐานะกรรมาธิการฯ ที่จะร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ ทั้งหน่วยงาน 3 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ตลอดจนเกษตรกรเข้าร่วมด้วยกัน และการร่วมมือกันนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี วันนี้โครงการของเราได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้บรรจุโครงการของเราเข้าไปในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ขณะนี้ เราทำเป็นสกลนครโมเดล ซึ่งจะมีการยายผลออกไปทั่วประเทศ ซึ่งตอบโจทย์รัฐบาล ได้แก่ การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำสังคม และ คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องดีขึ้น
ศาสตราจารย์ กนกศักดิ์ วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เราต้องการที่จะนำเอาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไปช่วยแก้ไขความยากจนให้แก่พี่น้องเกษตรกร เพราะเราถือว่าพี่น้องเกษตรกรที่เป็นฐานรากนั้นเป็นหัวใจของประเทศ ที่จะมีความมั่นคงได้และการที่จะทำอย่างนั้นก็คือ การลงไปทำวิธีการทำนั้นก็คือการทำให้การเกษตรของเรามีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้ผลผลิตของเรามีคุณภาพสูงขึ้น และก็ทำให้การเกษตรของเรา สามารถแข่งขันได้ สิ่งที่เราเข้าไปทำนั้นก็มีเรื่องของคราม ตั้งแต่การปลูกคราม การย้อมคราม จนกระมั่งถึงผ้าคราม และการนำผ้าครามไปใช้ประโยชน์ ส่วนที่ 2 ก็คือเรื่องของสมุนไพรต่างๆ ที่สกลนครมีเยอะมาก เราจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรและอีกส่วนหนึ่งก็คือ กล้วยและผักสวนครัว ที่จะสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว ให้กับพี่น้องเกษตรกรของเรา การที่จะทำเช่นนี้ได้หมายความว่าเราจะต้องปรับปรุงดิน ซึ่งจะต้องพูดคุยกันต่อไป