ส่อยกเลิก โครงการก่อสร้างคลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง
21 ต.ค. 2563, 15:36
วันที่ 21 ตุลาคม 25632 ที่หอประชุมอำเภอโคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร นายเอกภพ โสภณ นายอำเภอโคกศรีสุพรรณ นายสมพร อารยชาติสกุล ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยชาวบ้านในตำบลตองโขบ ตำบลแมดนาท่ม และตำบลเหล่าโพนค้อ กว่า 500 คน ร่วมประชุมและชี้แจงกรณีร้องเรียน โครงการก่อสร้างคลองผันน้ำหนองแซง-ห้วยซัน-ห้วยยาง ซึ่งชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเพราะได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้เนื่องจากการปักแนวเขตของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเสร็จเมื่อประมาณเดือนกันยายน 2563 ระยะทางประมาณ 16 กม. ปรากฏว่าการปักแนวเขตดังกล่าวได้ทับที่ดินทำกิน เรือกสวนไร่นา และที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เกือบ 1 พันครอบครัว
นายสมพร อารยชาติสกุล ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการ เนื่องจากเทศบาลตำบลตองโขบ ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2560 ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก่ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ระบบส่งน้ำชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การปศุสัตว์ การอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ ครอบคลุมพื้นที่ 78,000 ไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในลำน้ำพุง ทั้งยังบรรเทาน้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอโคกศรีสุพรรณ สามารถตัดยอดน้ำจากลำน้ำพุงก่อนไหลลงสู่หนองหารได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์น้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและเป็นรายได้เสริม ที่สำคัญยังเป็นแหล่งส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
ขณะที่ นายคณิต สมสวัสดิ์ อดีตนายกเทศบาลตำบลตองโขบ และชาวบ้านที่มาร่วมประชุม ซึ่งมีนักกฎหมาย นักการเมือง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเนื่องจากแม้ไม่มีคลองผันน้ำก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่การที่จะมีคลองกลับทำให้เดือดร้อนมากกว่า เพราะการปักแนวเขตการก่อสร้างคลองผันน้ำ มีความยาว 18.42 กม. ซึ่งช่วงที่มีปัญหาระยะทาง 16 กม. การก่อสร้างคลองผันน้ำ ขนาดความกว้าง 75 เมตร แต่ตอนหลังได้ปรับลดลงเหลือ 54 เมตร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาปักแนวเขตทับที่ดินทำกิน เรือกสวน ไร่นา บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่มีโฉนดที่ดิน แต่ปรากฏว่าค่าเวนคืนที่ดินไม่เป็นที่พอใจ เนื่องจากที่ดินของชาวบ้านมีราคาสูงถึงไร่ละ 4-5 แสน แต่กลับจะได้ค่าเวนคืนเพียงไม่ถึง 1 แสน หากมีการพยายามที่จะก่อสร้างต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองต่อไป