คพ. ร่วมมือสหรัฐฯ แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และพัฒนาระบบการติดตาม ประเมินคุณภาพอากาศ !
24 พ.ย. 2563, 11:03
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ. แถลงความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในการจัดทำระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ หรือ Mekong Air Quality Explorer (http://aqatmekong-servir.adpc.net/en/mapviewer/) เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหามลพิษอากาศ ผ่านความร่วมมือกับองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for International Development – USAID) องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Aeronautics and Space Administration – NASA) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center – ADPC) โครงการเซอร์เวียร์แม่โขง (SERVIR-Mekong) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Geo-Informatics and Space Technology Development Agency – GISTDA) เพื่อดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มีการดำเนินการควบคุม กำกับ ดูแล ภารกิจตามมาตรการในรูปแบบ War Room ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการยกระดับการดำเนินงานอย่างเข้มงวด ให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
นายอรรถพล กล่าวว่า ระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศ จะช่วยรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยประมวลผลจากข้อมูลดาวเทียมและระบบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของนาซาราย 3 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เชิงพื้นที่ครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมทั้งมีการพยากรณ์ล่วงหน้า 3 วัน ร่วมกับการดำเนินงานของ GISTDA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยที่พัฒนาระบบข้อมูลดาวเทียม เพื่อการติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 จุดความร้อน พื้นที่เผาไหม้ การกระจายตัวและทิศทางของฝุ่นละออง รวมถึงพฤติกรรมการแพร่กระจายของฝุ่นละออง PM2.5 เชิงพื้นที่ ทั้งในประเทศและรอบประเทศที่ความถี่ทุกชั่วโมง สำหรับประกอบการออกคำแนะนำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ระบบการติดตาม ประเมิน และพยากรณ์คุณภาพอากาศ ยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนข้อมูลให้กับแอปพลิเคชัน “Burn Check” เพื่อลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า จากความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีในข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้ยกระดับการดำเนินงานโดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย องค์ความรู้จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน